หลายคนมักจะคิดว่า แต่เมื่อใดก็ตามที่ ได้ยินคำว่า “ที่สุด…หรือที่หนึ่งในใจผู้ใช้” จะคิดถึงแต่ ภาษาการตลาดที่แย่งชิงความเป็นที่ 1 มาหลายสมัยของค่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศไทยที่พยายาม ตอกย้ำวลีนี้ผ่านสื่อต่างๆ ให้ผู้บริโภคตลอดเวลา

ล่าสุดประเด็นที่เขย่าวงการฯ ไม่แพ้กรณีการควบรวมของค่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่าง CAT กับ TOT ที่รวมเป็น NT ในวันนี้ อีกทั้งยังตกเป็นประเด็นสังคม ทั้งๆ ที่ยังไม่ทัน ได้ควบรวมกิจการ และกลายเป็นกระแสตั้งแต่ “ก่อน” และ “หลัง” การแถลงข่าว นั่นก็คือ การควบรวมแบบ พันธมิตรที่มีความเท่าเทียมกันของ True x DTAC

 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน โดยมีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ร่วมมือกันในครั้งนี้

เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) อย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสู่การเป็นเทคโนโลยีฮับ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 โดยในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรูและดีแทคจะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท

หลายคนมองว่านี่เป็นเกม ‘Duopoly’ ที่จะทำให้อำนาจการแข่งขันของธุรกิจเหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น และจะเป็นเหตุผลอื่นไม่ได้ นอกจากเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าให้ได้ ‘มากที่สุด’ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางรายยังคงให้ความเห็นไปในทางฝั่งผู้บริโภคที่ว่า “ตัวเลือกเยอะย่อมดีกว่า เพราะจะทำให้มีปัจจัยกลไกราคาที่เป็นทางเลือกได้มากขึ้น”

หันมามองทางด้านของ คุณ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการกลุ่มทรูฯ ที่ขยายแนวทางการประกาศความร่วมมือในเชิงของความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ ในการควบรวมกิจการระหว่างกันภายใต้ชื่อบริษัท ซิทริน โกลบอล (Citrine Global) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) โดยรายละเอียดของบริษัทเทคโนโลยีแห่งใหม่จากถ้อยแถลง เป้า หมายอันยิ่งใหญ่ของบริษัทคือ การผลักดันให้วงการโทรคมนาคมของประเทศสามารถลงทุนในระดับสากล ได้ โดยมองไปที่แผนธุรกิจ 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้าง 5G ตลอดจนเทคโนโลยีที่อยู่ใน กระแสโลกอย่าง AI , IoT และ Cloud แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การลงทุนเพิ่มเติมที่ครอบคลุมไปถึง ด้าน “Space-Technology” (เทคโนโลยีอวกาศ) อีกด้วย

ประเด็นหลังทำให้อดนึกไปถึงโครงการ Space-tech ที่โด่งดังไปทั่วโลกของ Elon Mask ไม่ได้ นั่นก็คือ Starlink อินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตที่ปล่อยดาวเทียมไปมากกว่า 1,000 ดวงแล้วในปี 2021 เพื่อให้บริการ อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ทลายข้อจำกัดทั้งมวล เพื่อทำให้ค่าบริการฯ มีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ทั่วโลก

จะว่าไปแล้วการแข่งขันของแวดวงโทรคมนาคมโลก อาจไม่ต่างจากวงการธนาคารที่ไม่ได้มองผู้เล่น “ระหว่างธนาคารด้วยกันเอง” อีกต่อไป แต่มีปัจจัยพึงระวังด้าน Disruption ที่คู่แข่งสามารถมาจากธุรกิจใดก็ได้ และพร้อมจะล้มทัพจัดระเบียบโลกใหม่ได้ทุกเมื่อ ความจำเป็นในการเร่งเติบโตด้วยการควบรวมเพื่อเพิ่มพลังแกร่งให้กับธุรกิจจึงเกิดเป็นกระแสทั่วโลก

วิสัยทัศน์การผลัดเปลี่ยน “DUMP-PIPE” ให้กลายเป็น “บริษัทเทคโนโลยี” เป็น Landscape ที่ทำให้เกิด การตั้งคำถามการไปต่อของผู้ให้บริการมากกว่าเรื่อง ระดับการแข่งขันทางด้านราคา เนื่องจากแนวคิด “ต้นทุน” กับ “ผู้ใช้” เริ่มไม่สัมพันธ์กัน

หากมองมุมผู้ให้บริการ

การ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” จากเพียงแค่การขยายโครงข่ายในฐานผู้ใช้เดิม ที่เริ่มเดินทางมาถึงจุด “อิ่มตัว” จึง เหมือนเป็นทางตัน ดังนั้นการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” จึงควรมองไปที่ “รูปแบบบริการ หรือการสร้างสินค้าใหม่” ที่ แตกต่างเพื่อเพิ่มศักยภาพ

หากมองไปที่การวิเคราะห์เหตุและปัจจัย จาก นายเอกสิทธิ์ วันสม อดีตประธานบอร์ดทีโอที

ต้องบอกก่อนเลยว่าความเหมือนที่แตกต่างจากการควบรวม NT  บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (1 กันยายน 63) และได้จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 นั้น ดูมีมุมมองที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ยังมีจุดร่วมในการคิดแบบ “รวมกันเราอยู่” ในโลกยุค Digital Disruption เพื่อ “ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและต้องการตั้งเป้าบริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่” 

ภาครัฐก็ตั้งเป้าหมายว่า NT จะเป็นบริษัทโทรคมนาคมติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ถึงแม้ว่าหากมองตามจริงภารกิจขององค์กร “รัฐวิสาหกิจ” ที่เป็นกลไกรัฐ ต้องเป็นไปเพื่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศให้แข็งแกร่งในทุกมิติ เพื่อการบริการสังคม ประชาชนและประเทศชาติ

หากมองไปที่นักวางแผนวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กรจากดร.ธนัยชรินทร์สารที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปีเจ้าของ Facebook Group: Strategy Essential

ผลกระทบระยะสั้น ถึงกลาง แม้ว่าเราจะวาดฝัน ความเจริญก้าวหน้าที่สวยหรู แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จำนวนผู้เล่นลดลง” ทำให้ “ทางเลือกน้อยลง” ไปด้วย นั่นหมายถึงโอกาสโดนเอาเปรียบเป็นไปได้สูงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เข้าตำราการเป็น Dominant Firm ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% ซึ่งในบางประเทศจะมีการกำกับดูแล หากเล็งเห็น “ความเสียเปรียบ เสียหายจากการผูกขาด”บนกฎหมาย ลักษณะ Anti-Trustlaw (Competition Law-EU) ที่วงการไอทีรายใหญ่โลกโดนกันเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft หรือ Google ก็โดนกันมาหมดแล้ว ป้องกันไม่ให้ “ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด” แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคน่าจะสบายใจได้ว่าจะไม่โดนเอาเปรียบจากการควบควมฯครั้งนี้ เพราะในไทยเอง มีตราพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการโดนเอาเปรียบเช่นกัน

มองไปที่ นักการตลาด ที่คิดแทนผู้บริโภค จาก อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ที่ปรึกษาด้านการตลาดดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ

การควบรวมกิจการทำให้สถานะการตลาดบริษัทใหม่ แข็งแกร่งขึ้น แน่นอน การเพิ่มรายได้ หรือขยายฐานลูกค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการน่าจะมีทิศทางสดใส จากการรวมโครงข่ายและคลื่นความถี่ร่วมกัน อาจจะเปรียบเสมือนมีเส้นทางถนนที่กว้างขึ้น แถมลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนลงได้ด้วยในระยะยาว ดังนั้นเป้าหมายการเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม ระดับภูมิภาคมีแนวทางที่เป็นไปได้ในอนาคต หากผ่านมติของสาธารณชนและได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแลได้จริง

สิ่งที่จะเกิด สิ่งที่คนไทยต้องการ “มากที่สุด” อะไรที่ถูกต้อง อะไรที่ถูกใจในฐานะผู้บริโภคคงหนีไม่พ้น “ทางเลือกการจ่ายเงิน” ที่คุ้มค่าที่สุดและได้คุณภาพ “บริการที่ดีที่สุด” 

ส่วนภาคอุตสาหกรรมยังมีอีกหลายปัจจัย ที่พูดกันได้ยาวๆ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนผ่าน เป็น INDUSTRY 5.0 เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลที่ยั่งยื่น กับการลงทุนเพื่ออนาคต

บทสรุปในหน้าต่อไปของ “ข้อเท็จจริงของการควบรวมกิจการ” คือ ดีลยังไม่สิ้นสุดในตอนนี้ และ ยังไม่รู้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายในอื่นที่กระทบดีลใหญ่นี้ได้อีกหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะหยุดยั้งโลกไอทีที่ไม่มีวันหยุดก้าวข้ามอย่างว่องไวไปได้อย่างไร