กลับมาอีกครั้งกับ Google Cloud Summit 2019 โชว์นวัตกรรมด้าน Cloud เพื่อช่วยหนุนธุรกิจไทยในยุค Digital Transformation

งานนี้กลับมาจัดที่ไทยเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งไทยเองถือเป็นตลาดสำคัญของอาเชียนที่ทาง Google ให้ความสำคัญเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เริ่มตั้งแต่การมีบริษัทยักษ์ใหญ่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นด้านโทรคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านการเงิน ซึ่งบริษัทเหล่านี้พร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformation เหตุผลต่อมาคือไทยมีความพร้อมด้านบุคคลากร ที่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและ Cloud ทำให้การนำไปปรับใช้ทำได้ไม่ยาก สามไทยถือเป็น Startup Nation ที่มีสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมากซึ่งกลุ่มนี้มีความต้องการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงต้องการโซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่น สามารถขยาย Scale ของเทคโนโลยีเมื่อมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น

ทาง Google มีการลงทุนด้าน Cloud ทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์จากเทรนด์การใช้งานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในภูมิภาคเอเชีย ตอนนี้มี Data Center อยู่ 7 แห่งซึ่งในอนาคตจะขยายเป็น 9 แห่ง แม้จะยังไม่มีแผนการตั้ง Data Center ในไทยแต่ก็มีการลงทุนด้านอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ให้ความสำคัญคือการลงทุนด้านเครือข่าย (Network) เพื่อให้การเชื่อมต่อเร็วขึ้น จะเห็นได้ว่าการใช้งานต่างๆจะไม่มีการติดขัดหรือเกิดระบบล่มเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆก็คือ YouTube ที่ดูได้อย่างไหลลื่น

เน้นสร้างความแตกต่าง

ตอนนี้บริการ Cloud นั้นก็มีผู้ให้บริการอยู่หลายราย แต่สิ่งที่ทาง Google ให้ความสำคัญคือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เน้น 5 เรื่องคือ

  1. เน้นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยจัดการย้ายมาเชื่อมต่อใช้งาน Cloud ได้ง่ายขึ้น
  2. บริหารจัดการข้อมูล
  3. การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและตรงกับที่ต้องการนำไปใช้งาน
  4. การพัฒนาแอปใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาแอปที่ยืดหยุ่นขึ้นโดยมีโซลูชั่นใหม่ด้านซอฟท์แวร์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีอย่าง Anthos ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเขียนแอปแค่ครั้งเดียว แต่สามารถนำไปใช้งานบนแพลตฟอร์ม Cloud อื่นๆที่ไม่ใช่ของ Google ได้ด้วย เพราะบางบริษัทนั้นไม่ได้ใช้บริการอยู่แค่เจ้าเดียว แต่มีการใช้หลายๆ Cloud พร้อมกันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน ซึ่ง Anthos จะช่วยให้ผู้ใช้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
  5. การทำงานที่มีประสิทธิผลและทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งทาง Google มีบริการ G Suite สำหรับองค์กร เพื่อให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ใช้งานมาก่อนเสมอ

สิ่งที่ Google Cloud มุ่งเน้นก็คือ ความต้องการของลูกค้า เพราะแต่ละรายนั้นมีความต้องการใช้งาน Cloud ไม่เหมือนกัน ซึ่งทาง Google เองก็โฟกัสที่วัตถุประสงค์การนำไปใช้งานแต่ละราย ซึ่งทีมงานของ Google Cloud โตขึ้นถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2018 มาคอยดูแลลูกค้าแยกในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เข้ากับได้กับเทคโนโลยีที่บริษัทใช้อยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา

ตัวอย่างเคสที่มีการนำมาใช้งานจริงในไทย เช่น K-Bank ที่ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ในฝั่งของ Mobile App ด้วยยอดผู้ใช้กว่า 12 ล้านคน มีการทำ 5,000 ธุรกรรม/วินาที ซึ่งทุกธุรกรรมจะต้องส่งการแจ้งเตือนไปผู้ใช้ ตกแล้ววันนึงต้องส่งการแจ้งเตือนถึง 50 ล้านข้อความต่อวัน นั่นจึงทำให้ระบบ Cloud ที่ใช้ต้องรองรับการใช้งานปริมาณมาก รวมถึงความปลอดภัยสูงทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การปกป้องข้อมูลและผู้ใช้

รายต่อมาคือฝั่งของ True Digital ที่ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนท์, การจ่ายเงิน, IoT, การศึกษา ซึ่งทาง True นั้นเอามาใช้หลายด้าน เริ่มตั้งแต่การนำมาใช้ระบบสตรีมมิ่ง ซึ่งระบบ Cloud ของ Google สามารถ Scale up ให้รองรับช่วงเวลาที่คนเข้ามาใช้งานเยอะๆทกให้การรับชมได้อย่างไม่มีสะดุด เรื่องต่อมาคือนำการบริหารจัดการข้อมูลและ AI มาใช้ในการทำ Personalization ให้เข้ากับความชื่นชอบของลูกค้าแต่ละคน เช่น การแนะนำรายการที่คนนั้นชอบดู รวมไปถึงการยิงโฆษณา เป็นต้น สุดท้ายคือการนำ G Suite มาใช้ในองค์กรเพื่อให้การทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทิม ไซแนน ผู้อำนวยการ Google Cloud ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า “ผมได้พูดคุยกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของคลาวด์ ที่ให้ประโยชน์มากกว่าการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ ผู้ประกอบการไทยกำลังให้ความสนใจกับ Google Cloud เพื่อช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ระบุรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างความภักดีของลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึกและการปรับตามความต้องการของลูกค้า 

นอกจากนี้ ลูกค้ายังบอกกับเราอีกว่าพวกเขาต้องการทางเลือกและความยืดหยุ่น และการเปิดกว้างยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Google Cloud แตกต่างจากแพลตฟอร์มคลาวด์เจ้าอื่นๆ ในตลาด ตั้งแต่ที่ เราเปิดตัว Anthos ซึ่งเป็นโซลูชันไฮบริดคลาวด์และมัลติคลาวด์ ในงาน Google Cloud Next ’19 โซลูชันนี้ก็ได้ผลตอบรับเชิงบวกอย่างท่วมท้น นั่นเป็นเพราะ Anthos มีการใช้มาตรฐานแบบเปิดและให้ลูกค้าเรียกใช้แอปพลิเคชันของพวกเขาบนระบบเดิมที่มีอยู่ภายในองค์กรหรือในระบบคลาวด์สาธารณะ โดยไม่ต้องทำการปรับแต่งใดๆ” 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลและเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับ Google Cloud ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้เห็นถึงความก้าวหน้าอันน่าทึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้จริงเมื่อบริษัทและประเทศต่างๆ เดินหน้าสู่อนาคตด้วยแนวทางการเน้นใช้งานระบบคลาวด์ (cloud-first) ในขณะที่ประเทศไทยยังคงผลิตบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของพวกเขาด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ต่อไปนั้น เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศนี้” ทิม ไซแนน  กล่าวเสริม