แม้ตอนนี้รถยนต์ไร้คนขับอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับวิ่งบนถนนจริง แต่ในงาน CES 2020 ปีนี้เหล่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะพร้อมใช้งานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ความปลอดภัยต้องมาก่อน

หนึ่งในเซอร์ไพรซ์ของงาน CES 2020 คือการเปิดตัว Sony Vision-S รถยนต์ต้นแบบของโซนี่ โดยได้รับการร่วมมือจากบริษัทดังๆอย่าง Bosch, Blackberry, Nvidia และ Qualcomm รอบคันรถจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ทั้งหมด 33 ตัว ไม่ใช่แค่เพียงตรวจจับอันตรายแต่ยังช่วยตรวจจับอาการเหนื่อยล้าของคนขับ รวมถึงอาการเมาได้ด้วย ด้วยการใช้กล้องขนาดเล็กที่ติดกับกระจกมองหลัง ถ้ารถตรวจจับได้ว่าเรากำลังสัปงกอยู่ก็จะทำการแจ้งเตือนทันทีหรือเปิดโหมดไร้คนขับเพื่อทำให้เราปลอดภัย

ในส่วนของบริษัท Yandex ได้โชว์เทคโนโลยีไร้คนขับอัตโนมัติในรถยนต์ Toyota Prius พาผู้โดยสารไปส่งรอบเมืองโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนคอยควบคุมอยู่หลังพวงมาลัย รวมถึงมีเทคโนโลยีในการสร้างแผนที่สามมิติของถนนหนทางเพื่อให้รู้ว่าสิ่งกีดขวางอยู่ตรงไหนบ้าง นอกจากนั้นยังมีปุ่มหยุดรถอัตโนมัติในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้วย

ยกระดับความบันเทิงในรถ

ทางค่าย BMW ได้โชว์เทคโนโลยีว่าต่อไประบบให้ความบันเทิงในรถยนต์ไร้คนขับจะทำให้เราสะดวกสบายและให้ประสบการณ์ที่หรูหราได้ยังไง เค้าไม่ได้ยกรถทั้งคันมาโชว์แต่นำเสนอผ่านห้องโดยสารและแผงคอนโซลสุดหรูที่มีชื่อว่า BMW i Interaction Ease

ตัวเบาะที่นั่งจะเป็น Zero G loungers สามารถเอียงได้ถึง 60 องศาแต่ก็ยังช่วยรักษาความปลอดภัยได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในรถมีเทคโนโลยี Gaze recognition ที่เป็นเหมือนผู้ช่วยเสมือนจริง ช่วยให้ระบบต่างๆในรถตอบสนองทำงานตอบสนองได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งที่เรากำลังจ้องมองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง วิวด้านนอก รวมถึงซันรูฟ จากนั้นก็สั่งงานให้ได้โดยที่เราไม่ต้องยกมือขึ้นมาสั่งเลย ทำให้การใช้ชีวิตภายในรถสะดวกสบายขึ้น เมื่อรถขับเองได้เราก็มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น

หาเส้นทางที่ถูกต้อง

ระบบการนำทางถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของรถยนต์ไร้คนขับ หลายๆบริษัทพยายามพัฒนาระบบแผนที่ของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดงานที่ซ้ำซ้อนกับบริษัทอื่นเพราะต่างคนต่างทำ ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างแพลตฟอร์มยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ใน CES ปีนี้เราเริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่าระบบ software-as-a-service ที่ช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถนำไปใส่ในรถยนต์ของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยตัวเอง

เราเห็นค่าย HERE Technologies ประกาศแพลตฟอร์ม HERE Navigation on Demand ที่เปิดให้ค่ายรถนำไปใช้กับระบบ infotainment ของตัวเองได้ หลังจากติดตั้งแล้วทางผู้ผลิตก็จะสามารถติดตามการทำงานของซอท์ฟแวร์ได้ รวมถึงปล่อยเฟิร์มแวร์ให้อัปเดทผ่านวิธี over the air นอกจากนั้นระบบนี้ยังมาพร้อม Alexa ติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้วทำให้เราสามารถสั่งงานด้วยเสียงได้อย่างสะดวกสบาย ในอีกไม่ช้าเราจะได้เห็นระบบนี้เข้าไปอยู่ในรถยนต์แบรนด์ต่างๆมากขึ้น

ปัจจุบันระบบนำทางของ HERE Navigation นั้นได้เข้าไปอยู่ในรถมากกว่า 100 ล้านคันทั่วโลก แต่การมาของ Navigation on Demand จะทำให้กลายเป็นระบบแผนที่ที่ตอบโจทย์แบบ one-stop mapping คือ ใช้ตัวเดียวจบ ครบทุกความต้องการนั่นเอง ทางผู้ผลิตรถยนต์เองก็จะทุ่นค่าใช้จ่าย หันไปพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับได้อย่างเต็มที่

ฮาร์ดแวร์สุดล้ำใต้ฝากระโปรง

Qualcomm ผู้ผลิตชิปสมาร์ทโฟชชื่อดังก็ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับด้วยฮาร์ดแวร์ใหม่ชื่อว่า Snapdragon Ride ชุดประมวลผลสำหรับนำไปใส่ในรถยนต์ไร้คนขับได้ทุกระดับ ใช้งานได้ตั้งแต่เพิ่มความปลอดภัยอย่าง ระบบเบรกอัตโนมัติจนไปถึงเปิดใช้งานโหมดไร้คนขับแบบสมบูรณ์

ตัวแพลตฟอร์มประกอบด้วย Ride Safety system-on-chips (SoCs), Snapdragon Ride Safety Accelerator และ Snapdragon Ride Autonomous Stack ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งนี่จะช่วยลดต้นทุนทำให้ราคาขายรถยนต์ไร้คนขับถูกลง เพราะค่าวิจัยพัฒนาถูกลงเมื่อมีชุดอุปกรณ์สำเร็จรูป นอกจากนั้นยังช่วยประหยัดพลังงานเพราะชิปตัวนี้ออกแบบมาให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่ใช้ระบบระบายความเย็นด้วยอากาศก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบน้ำหล่อเย็นมาช่วย

การทดสอบบนถนนจริง

อีกความท้าทายของรถยนต์ไร้คนขับคือการทดสอบบนถนนจริง ในสถานการณ์ที่สิ่งต่างๆมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อให้มีความปลอดภัยและควบคุมได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

เพื่อแก้ปัญหานี้ทาง Toyota ประกาศสร้างเมืองใหม่ในชื่อว่า ‘city of the future’ ที่เชิงภูเขาฟูจิ ในประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งชื่อว่า Woven City บนผืนดินที่เป็นโรงงานเก่าของโตโยต้า เพื่อสร้างเป็นห้องทดลองที่มีชีวิต ซึ่งนักวิจัยจะสามารถทดสอบหุ่นยนต์, รถยนต์ไร้คนขับ, AI และเทคโนโลยีอื่นๆในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม เพื่อดูว่าระบบเหล่านี้มีการโต้ตอบกับมนุษย์อย่างไร

ญี่ปุ่นไม่ใช่เมืองแรกของโลก ก่อนหน้านี้ทาง Google เองก็วางแผนสร้างเมืองอัจฉริยะบนพื้นที่กว่า 48,560 ตารางเมตรที่บริเวณหน้าน้ำตกในเมืองโตรอนโต ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนในเมืองแห่งนี้จะมีเทคโนโลยีมากมายตั้งแต่ Wi-Fi สาธารณะให้ใช้ฟรี, ไฟส่องทางที่ออกแบบให้ลดการใช้รถยนต์ ระบบเก็บข้อมูลสาธารณะ เช่น ตัวเลขการจราจร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับไอเดียของ Google ที่เก็บข้อมูลของคนในที่สาธารณะมากเกินไป

หวังว่าทาง Toyota จะใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการพัฒนาห้องวิจัยที่ Shizuoka ให้เป็นประโยชน์ โดยหุ่นยนต์ก่อสร้างนั้นจะลงเมือสร้างเมืองใหม่ในปีหน้า

VIA Techradar