ระบบตั๋วร่วม BTS, MRT เลื่อนจากตุลาคมนี้เป็นเป็นปีหน้าแทน

จากก่อนหน้านี้ที่ทางปลัดกระทรวงคมนาคมได้ออกมาเปิดเผยถึงรายละเอียดและความคืบหน้าโครงการตั๋วร่วมออกมาก็ทำให้หลายคนดีใจกันไปไม่น้อย เพราะด้วยระยะที่วางแผนไว้ในเดือนตุลาคมนี้เราก็จะได้ใช้บัตรใดก็ได้ขึ้นได้หมดทั้ง BTS และ MRT

แนวทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (ที่คาดหวังในตอนแรก)

ค่าใช้จ่ายการปรับปรุงระบบที่สูงและอัตราค่าธรรมเนียมที่ไม่ลงตัว

เนื่องจากหากจะใช้ระบบตั๋วร่วมได้ตามเฟสแรกที่วางแผนจะต้องใช้บัตรใดก็ได้ของ MRT และ BTS ในการใช้บริการของทั้งสองระบบจะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของระบบหัวอ่านที่มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังมีเรื่องของอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบอีกด้วยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในตอนนี้เนื่องจากแต่ละที่ก็จะมีอัตราค่าใช้บริการที่แตกต่างกันออกไป

ผู้ว่าการรฟม.ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ให้สามารถรองรับการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ยังไม่อนุมัติกรอบวงเงินค่าปรับปรุงระบบหัวอ่านรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยให้ รฟม.ทบทวนปรับลดวงเงิน และให้เจรจาต่อรองค่าปรับปรุงกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ได้วงเงินที่ดีที่สุด 

ทั้งนี้ ในส่วนของสายสีม่วง รฟม.จะลงทุนเอง ส่วนสายสีน้ำเงินทาง  BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานแจ้งว่ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่ง รฟม.จะต้องเจรจาให้ BEM ดำเนินการ ขณะที่ยอมรับว่าการสั่งซื้ออุปกรณ์ยังมีความล่าช้าเนื่องจากติดปัญหาโรคโควิด-19 ส่งผลให้การทำงานเพื่อพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับบัตรข้ามระบบในระยะแรกยังทำได้ไม่เต็มที่   

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จากที่ รฟม.จะต้องเสนอบอร์ดเพื่อขออนุมัติ ดำเนินการจัดทำคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order : VO) เพิ่มงานปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 140 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ถือว่าล่าช้า และทำให้การปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ รฟม. และบัตร Rabbit ของ BTS สามารถใช้งานร่วมกันได้ข้ามระบบไม่ทันภายในปีนี้แน่นอน

นอกจากนี้ การปรับปรุงหัวอ่านให้รองรับบัตรข้ามระบบได้นั้นยังมีประเด็นในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบที่ยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งการใช้งานอาจทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น กรณีเงินในบัตรไม่เพียงพอ จะยังไม่สามารถเติมเงินข้ามระบบได้ ทำให้ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเงินสดร่วมด้วย 

หรือกรณีบัตรโดยสารสำหรับเด็ก ซึ่ง MRT กำหนด 3 อัตรา คือ เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 ซม. และอายุไม่เกิน 14 ปี ใช้บริการฟรี เด็กที่มีความสูงตั้งแต่ 91-120 ซม. และอายุไม่เกิน 14 ปี ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% ส่วนรถไฟฟ้า BTS ไม่มีบัตรส่วนลดสำหรับเด็ก 50% เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับปรุงหัวอ่านรองรับบัตรข้ามระบบ ซึ่ง รฟม.และ BTS จะต้องลงทุนหลายร้อยล้านบาทแล้ว ในระยะต่อไปจะต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงเป็นระบบเป็น Account Based Ticketing หรือ ABT ระบบเปิด (Open Loop) ซึ่งใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) และรองรับไปถึงระบบคิวอาร์โค้ด การสแกนใบหน้าอีก เท่ากับเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหรือไม่ ซึ่งฝ่ายนโยบายควรต้องทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกและประโยชน์สูงสุด 

อ้างอิง : ผู้จัดการออนไลน์