หนึ่งในความน่าสนใจของงาน WWDC ของทุกปีคือ การเปิดโอกาสให้น้องๆนักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลกมาแข่งขันในรายการ Swift Student Challenge การแข่งขันเขียนโค้ดด้วยภาษา Swift คัดเลือกตัวแทน 350 คนจากทั่วโลกมาร่วมงาน WWDC ที่จะได้เจอนักพัฒนาตัวจริง รวมถึงมี Session ต่างให้เลือกพัฒนาฝีมือตามความสนใจของแต่ละคน

นับตั้งแต่ปี 2015 มีเด็กไทยผ่านเข้ารอบการแข่งขันรายการนี้ 4 คน ซึ่งปีนี้มีการรับสมัครไปตั้งแต่ 30 มีนาคมถึง 18 เมษายนที่ผ่านมา และประกาศผลผู้เข้ารอบไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ความน่าสนใจของปีนี้ คือ มีเด็กไทยเข้ารอบถึง 4 คนเลยทีเดียว

โจทย์ใหญ่ของการแข่งขันคือการพัฒนาแอปคือ แอปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน แอปที่ช่วยเหลือคนอื่น หรือแอปที่สร้างผลแรงกระเพื่อมต่อสังคม ซึ่งน้องๆแต่ละคนก็ตั้งข้อสังเกตจากสิ่งรอบตัวจนได้ออกมาเป็นแอปของตัวเอง ลองไปดูกันว่าน้องๆแต่ละคนมีมุมมองต่อการพัฒนาแอปอย่างไร

น้องอภิ – นายอภิภูมิ ชื่นชมภู
น้องอภิอายุ 16 ปี ตอนนี้ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ส่งผลงานประกวดในแอป Sudokuza!
ไอเดียตั้งต้นเริ่มจากการที่น้องชอบเล่นเกม sudoku มาก แต่เนื่องจากเกมที่มีอยู่นั้นมีความซับซ้อนและเล่นค่อนข้างยาก ทำให้มือใหม่หลายๆ คนรู้สึกไม่ชอบ ผมเลยออกแบบใหม่ ให้มีหลายระดับตั้งแต่ง่ายไปจนถึงยาก รวมทั้งออกแบบ User Interface ให้เข้าถึงได้ง่าย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการเล่น รวมไปถึงการเพิ่มเสียงเพลงให้เกิดความเพลิดเพลินระหว่างเล่น เพลย์กราวนด์นี้เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากลองเล่นเกม Sudoku ผมอยากให้เกมเข้าถึงทุกคนและสามารถเล่นกันได้เยอะๆ
ตอนนี้น้องมีแอปอยู่บน App Store ชื่อ OpenAPI พัฒนาขึ้นหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้น้องต้องเรียนหนังสือทางออนไลน์และพบว่าแอปที่มีอยู่ยังไม่ค่อยสเถียรและตรงกับความต้องการของมากนัก จึงพัฒนาแอปขึ้นมาใหม่เอง โดยมีจุดเด่นที่สามารถ Video Call และ แชท ได้จากในแอป รวมถึงสามารถตั้งเตือนให้ทำกิจกรรมต่างๆได้ เหมาะสำหรับการเรียนหรือการทำงานเป็นกลุ่ม ตอนนี้แอป OpenAPI ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียน
น้องแก้ม – นางสาวปรีณาพรรณ เสาร์เขียว
น้องแก้มอายุ 18 ปี กำลังจะเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานส่งเข้าประกวด Girl Guard
จุดเริ่มต้นของน้องแก้มคือมีโอกาสไปเข้าค่ายอบรมจึงทำให้รู้จักกับ Swift Playgroud ซึ่งการประกวดครั้งนี้น้องมองว่าความยากอยู่ตรงที่การคิดคอนเซ็ปต์ของแอป   น้องแก้มพบว่าในประเทศไทยเกิดการล่วงละเมิดทางเพศอยู่บ่อยครั้ง และมักเกิดขึ้นในที่สาธารณะ โดยมีเหยื่อเพียง 28% เท่านั้นที่กล้าแจ้งความหรือเล่าให้ผู้ปกครองฟังเพราะเกิดความอาย
น้องแก้มจึงพัฒนา Girl Guard ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงทุกคน บนเพลย์กราวนด์นี้จะมี 2 ฟีเจอร์ คือ Trustworthy Friend ลักษณะจะเหมือนกับ Fake Call ที่จะมีเสียงบทสนทนาปลอมไว้คุยด้วยขณะเดินทางคนเดียวโดยรถสาธารณะ และ Fight like a girl! หรือเสียงไซเรนที่ช่วยขอความช่วยเหลือหากตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
น้องไช้ – นัธทวัฒน์ เขมัษเฐียร
น้องไช้อายุ 17 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวารี เชียงใหม่ ผลงานส่งเข้าประกวด Nature Disaster
แอปของน้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติตัวหากประสบภัยพิบัติ โดยให้ข้อมูลทั้งในรูปแบบของตัวอักษรและเสียง จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่น้องสังเกตเห็นว่าประเทศไทยมีอากาศแปรปรวนบ่อย เลยอยากพัฒนาผลงานที่ช่วยให้คนระมัดระวังกันมากขึ้น น้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการสร้างผลงานชิ้นนี้ และตั้งใจว่าในอนาคตอยากจะเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อให้สามารถส่งแจ้งเตือนให้คนในแต่ละพื้นที่ได้
น้องนาย – ศรีศุภดิตถ์ รัตนประเสริฐ 
น้องนายอายุ 17 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวารี เชียงใหม่ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดคือ Unzheimer
แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานเกิดจากการที่น้องอาศัยอยู่กับคุณย่าและพบว่าคุณย่ามักทำของหายหรือหาของไม่เจออยู่บ่อยๆ จึงอยากพัฒนาผลงานที่จะช่วยบันทึกที่ตั้งของสิ่งของต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยจำในอีกทางหนึ่ง โดยเราสามารถบันทึกที่ตั้งของสิ่งของแต่ละชิ้นไว้ที่ Unzheimer ได้ ซึ่งน้องเองอยากเข้าร่วมงาน WWDC เพื่อนำความรู้จากวิศวกรของ Apple ไปพัฒนาผลงานต่อเพื่อให้การทำงานต่างๆ ดียิ่งขึ้น

ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่น้องทั้งสี่คนเห็นตรงกันว่าครอบครัวและสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาแอปนั้น เพราะต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานๆ ผู้ปกครองหลายคนอาจจะไม่เข้าใจคิดไปว่าเด็กกำลังเล่นเกมอยู่รึเปล่า หากผู้ปกครองเข้าใจ สนับสนุนและส่งเสริมให้ถูกจุดก็จะทำให้เด็กพัฒนาได้ไว

สิ่งแวดล้อมอย่างเพื่อนเองก็มีส่วนช่วยผลักดันให้น้องๆ อย่างน้องแก้มเองได้ไดเดีย Fake call จากที่เพื่อเคยเรียกรถแล้วเจอคนขับชวนคุยแปลกๆ หรือน้องอภิที่อยากทำเกม Sodoku แบบยากๆให้เพื่อนได้เล่น รวมถึงเมื่อพัฒนาแอปเส็จแล้วก้เอาไปให้เพื่อนทดสอบ รับฟังความเห็นว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขจุดไหนบ้างเพื่อให้แอปดีขึ้น

การศึกษาภาคบังคับยังไม่ตอบโจทย์

น้องแก้มให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าการเรียนคอมพิวเตอร์ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษานั้นยังไม่ตอบโจทย์การสร้างนักพัฒนาแอปรุ่นใหม่ เพราะการเรียนการสอนจะเน้นเรื่องของทฤษฎีเป็นหลัก การเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ปฏิบัติจริงนั้นน้อยมาก บางเรื่องก็ต้องไปศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง หากปรับการเรียนการสอนให้สนุก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือจริงก็จะช่วยให้เด็กอยากเรียนอัตโนมัติโดยที่ไม่มีใครบังคับ

ฝั่งของน้องอภินั้นก็เห็นตรงกันเรื่องของการสอนให้สนุกเด็กจะเกิดความอยากเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์นั้นเป็นโรงเรียนต้นแบบที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งน้องเองก็ได้ใช้ไอแพดและรู้จัก Swift Playgroud มาตั้งแต่ม.2  บวกกับมาเจอกับอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ที่สอนสนุก  รวมไปถึงการเรียนการสอนที่เป็น Avtive Based learning ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆทำให้น้องไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเรียนอยู่ ทำให้เกิดความอยากรู้ในการเขียนโค้ดด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ พัฒนาฝีมือจนสามารถเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันที่เจนีวา