ดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระที่เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของดาวเคราะห์ทั้ง 9 ของระบบสุริยะ ซึ่งด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากทำให้มันเป็นดาวเคราะห์ที่แห้งแล้งและหนาวเหน็บ แต่จากผลการศึกษาข้อมูลการสำรวจดาวพลูโตที่ได้จากยาน New Horizons ที่ได้บินผ่านไปสำรวจดาวพลูโตเมื่อปี 2015 นั้นได้บ่งชี้ว่าดาวพลูโตนั้นยังร้อนมากพอจนทำให้เกิดภูเขาไฟปะทุขึ้นบนผิวดาว แต่ภูเขาไฟบนดาวพลูโตนี้ไม่เหมือนกับภูเขาไฟบนโลกที่ระเบิดพ่นเอาลาวาร้อนจัดจนหินนั้นหลอมละลายออกมาแต่ภูเขาไฟบนดาวพลูโตนี้ปะทุเอาน้ำแข็งออกมาแทน
โดยรายงานการค้นพบครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ใน Journal Nature Communications โดยทีมวิจัยได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวพลูโตแบบละเอียดที่ได้จากยาน New Horizons ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางธรณีวิทยาของการปะทุของภูเขาไฟที่เกิดขึ้นมาไม่นาน
จากรูป: แสดงถึงบริเวณที่เกิดการปะทุ (Wright Mons) โดยกราฟด้านล่างแสดงระดับความสูงตัดตามเส้น A-A’
โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลนักวิทยาศาสตร์คาดว่าภูเขาไฟลูกนี้น่าจะเพิ่งเกิดการปะทุมาเมื่อไม่กี่ล้านปีที่ผ่านมานานสุดก็ไม่น่าเกิน 100 ล้านปี ซึ่งการค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าด้านในของดาวพลูโตนั้นยังอุ่นกว่าที่เราเคยคิดเอาไว้
ทั้งนี้ภูเขาไฟบนดาวพลูโตนี้ไม่ได้ระเบิดพ่นเอาลาวาออกมาเหมือนที่เกิดบนโลกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะแต่เป็นการปะทุพ่นเอาโคลนเหลวออกมาแทน ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยเจอการปะทุคล้ายภูเขาไฟบนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ที่หนาวเย็นในระบบสุริะแต่ก็ยังไม่เคยเจอภูเขาไฟในลักษณะนี้มาก่อน
จากภาพ: Wright Mons เมื่อมองจากมุมขอบฟ้าของดาวพลูโต
ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตที่เกิดขึ้นในระบบสุริยะของเรามานับตั้งแต่ก่อกำเนิดระบบสุริยะ เพราะดาวเคราะห์หินขนาดเล็กอย่างดาวพลูโตที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากนั้นน่าจะสูญเสียความร้อนไปจนทำให้เป็นก้อนหินที่เย็นเฉียบ แต่การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าดาวพลูโตข้างในนั้นยังอุ่นมากกว่าที่เราเคยคิด ยังคงมีเรื่องให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องครุ่นคิดและทำความเข้าใจอีกมาก
**********************************************************************************************************
อ้างอิง:
https://interestingengineering.com/pluto-ice-volcanoes-erupt
https://www.nature.com/articles/s41467-022-29056-3