Google มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมและครอบคลุมสำหรับผู้ใช้งานทุกคน  เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย  และในขณะเดียวกัน Google ยังมุ่งเน้นการแบ่งปันบทเรียนและความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยเฉพาะสำหรับ “ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “NIU”  ซึ่งผู้ใช้งานกลุ่มนี้คือบุคคลที่ยังไม่มีความรู้และขาดความมั่นใจทางดิจิทัล  ซึ่งมักจะมาจากสาเหตุที่มีความรู้ทางดิจิทัลที่ไม่มากพอ โดยมักจะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเฉพาะโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ซึ่งนับเป็นกลุ่มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 2.5 พันล้านคน จาก 4.7 พันล้านคนทั่วโลก

แม้ว่า “ความเป็นส่วนตัว” จะมีคำจำกัดความหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วหมายถึงสิทธิ์ของบุคคลในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตน และถึงแม้ว่านิยามของความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ทุกคนต่างก็ต้องการความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน  

สำหรับผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ ความเป็นส่วนตัวอาจหมายถึงการปกป้องตนเองจากการละเมิดข้อมูล แรนซัมแวร์ หรือแฮ็กเกอร์ ในขณะที่ความเป็นส่วนตัวในมุมมองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่อาจหมายถึงความกังวลในโลกแห่งความจริงมากกว่า ตัวอย่างเช่น ในหลายๆ ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม NBU (Next Billion Users หรือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพันล้านคนต่อไป) การใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับคู่สมรส พี่น้อง หรือบุตรหลาน มักเป็นบรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ผู้หญิง”) แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ผู้อื่นอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการค้นหา หรือไฟล์ต่างๆ ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่มักพึ่งพาคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเพื่อช่วยทำสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและมีความละเอียดอ่อน เช่น การจ่ายบิลและการสร้างบัญชีออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ที่ใช้เครื่องมือที่สั่งงานด้วยเสียงเพื่อฟังเนื้อหาออนไลน์หรือสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวก็อาจประสบปัญหาความเป็นส่วนตัวเช่นกัน เนื่องจากคนที่อยู่ใกล้ๆ อาจได้ยินสิ่งที่พวกเขากำลังฟังหรือสนทนาอยู่  

Files

Files โดย Google ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับการจัดการไฟล์ มีฟังก์ชันที่เรียกว่า Safe Folder (โฟลเดอร์ที่ปลอดภัย) ซึ่งสร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความเป็นส่วนตัวของกลุ่ม NBU ซึ่งหลายๆ คนมักใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับผู้อื่น Safe Folder เป็นโฟลเดอร์ที่มีการเข้ารหัสด้วย PIN 4 หลักที่มีความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ และไฟล์เสียงที่สำคัญถูกเปิดหรือเข้าถึงโดยผู้อื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไฟล์เหล่านั้นอยู่ในอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยโฟลเดอร์จะถูกล็อคทันทีที่ผู้ใช้สลับไปใช้แอปพลิเคชันอื่น ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาใดๆ ในโฟลเดอร์ได้เมื่อแอปพลิเคชันทำงานอยู่ในพื้นหลัง ในปัจจุบัน ถือได้ว่า Safe Folder มีประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่นเท่านั้น   

โหมดไม่ระบุตัวตน

โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode) ใน Google Go ซึ่งจะไม่บันทึกข้อมูลการค้นหาออนไลน์ลงในบัญชีหรืออุปกรณ์ของผู้ใช้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับกลุ่ม NBU ที่มักใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับผู้อื่น โหมดนี้ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในอินเดีย จะช่วยเก็บการท่องเว็บของคุณไว้เป็นส่วนตัวจากคนอื่นๆ ที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาของขวัญ หรือการค้นหาข้อมูลในหัวข้อที่เป็นส่วนตัว เช่น สุขภาพและการเงิน เพื่อช่วยยกระดับความเป็นส่วนตัวขึ้นไปอีกขั้น

 

 

ในบทสัมภาษณ์ของ New York Times ที่ตีพิมพ์ในปี 2019 ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Google กล่าวว่า พันธกิจของ Google คือการจัดระเบียบข้อมูลในโลก และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่ง Google ก็ได้ใช้แนวทางเดียวกันนี้กับความเป็นส่วนตัว นั่นหมายความว่าความเป็นส่วนตัวไม่ควรเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์และบริการระดับพรีเมียมเท่านั้น แต่ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

แม้ในกรณีที่เรามีผลิตภัณฑ์แบบชำระเงินอย่าง YouTube Premium (ซึ่งมอบประสบการณ์การรับชมวิดีโอแบบไม่มีโฆษณาคั่น) YouTube เวอร์ชันปกติก็มีการควบคุมความเป็นส่วนตัวในตัวสำหรับผู้ใช้ เช่น โหมดไม่ระบุตัวตน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เข้าชมได้โดยที่ไม่ส่งผลหรือแสดงในประวัติการค้นหาและประวัติการดูของบัญชี เรายังคงเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีการรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มอบวิธีง่ายๆ ให้กับผู้ใช้เพื่อตัดสินใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลใดบ้างที่ต้องการแชร์ บันทึก หรือลบ  

เนื่องด้วยปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความเป็นส่วนตัวที่ละเอียดอ่อนหลากหลายประการ ดังนั้นผู้สร้างเทคโนโลยีดิจิทัลจึงต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วยโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมและออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่น เช่น การแบ่งปันและการเปิดกว้าง แทนที่จะเป็นโซลูชันที่ออกแบบตามค่านิยมขององค์กรหรือแนวทางเดียวที่ใช้กับทุกสถานการณ์เพียงอย่างเดียว องค์กรที่พยายามแก้ไขปัญหาความเป็นส่วนตัวของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่จะสามารถสร้างความไว้วางใจในกลุ่มคนเหล่านี้ และทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์ขององค์กรนั้นๆ ต่อไป