Vamsi Talla ห้องวิจัยที่อยู่ใน University of Washington ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโทรศัพท์มือถือต้นแบบที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ แต่จะไปดึงสิ่งที่อยู่ในอากาศมาสร้างพลังงานแทน

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาโทรศัพท์เครื่องนี้ก็คือ มือถือได้กลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญ ถ้ามีมือถือที่ทำงานได้โดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ หยิบมาใช้โทรออกรับสารหรือส่ง SMS ได้ตลอดก็คงดี

จากนั้นก็นำแนวคิดมาพัฒนาด้วยการเก็บเกี่ยวพลังงานที่อยู่รอบตัวมาใช้งาน นั่นก็คือคลื่นวิทยุและไวไฟเองที่เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าได้แต่ต้องมีเสาสัญญาณคอยเก็บเกี่ยวพลังงาน แต่ปัญหาก็คือไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมีจำนวนน้อยระดับสิบไมโครวัตต์ ปกติแล้วมือถือทั่วไปนั้นจะใช้ไฟประมาณ 800 มิลลิวัตต์เวลาที่เราโทรออกซึ่งปริมาณที่ผลิตได้กับปริมาณที่ต้องใช้แตกต่างกันมาก

ทางทีมงานเลือกใช้เทคนิกชื่อว่า backscatter ที่ช่วยให้มือถือสื่อสารหากันได้ด้วยการสะท้อนคลื่นวิทยุที่วิ่งเข้ามา คล้ายๆกับเวลาที่คนติดเกาะแล้วใช้กระจกส่งสัญญาณสะท้อนแสงแดดให้คนที่ขับเรือหรือขับเครื่องบินให้ ทางทีมได้ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพ  Jeeva Wireless พัฒนากลายเป็นเทคโนโลยีชื่อว่า “passive Wi-Fi” ขึ้นมา

ตัวโทรศัพท์ต้นแบบนั้นจะทำงานคู่กับฐานที่ติดตั้งส่วนประกอบสำคัญ คือ วงจรที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายดิจิทัล (ซึ่งระบบทดสอบนั้นเชื่อมต่อผ่าน Skype) โดยใช้คลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้นตัวโทรศัพท์ใช้คลื่นจากตัวฐานจึงทำให้ใช้งานได้ในระยะ 15 เมตรเท่านั้น เมื่อนำมาผลิตเพื่อขายจริงเจ้าฐานนี้จะถูกนำไปฝังในเราท์เตอร์หรือสถานี/ลุมสายส่งสัญญาณมือถือ

แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้ยังต้องพัฒนาอีกเยอะกว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์ เพราะตัวเครื่องมีแค่แป้นตัวเลขและหลอดไฟ LED เล็กๆที่บอกว่ากดปุ่มแล้ว ส่วนจอสัมผัสยังไม่ใส่มาให้เพราะมันกินไฟเยอะกว่าที่ผลิตได้ นอกจากนั้นเสียงยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร คุณภาพพอๆกับ walky-talky ที่เหมาะสำหรับคุยกันในระยะที่ไม่ไกลกันมาก

ส่วนเวอร์ชั่นถัดไปเค้าจะพัฒนาการโทรให้ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มจอ E-Ink สำหรับให้ส่งข้อความได้ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการติดกล้องเข้าไปสำหรับถ่ายเซลฟี่

VIA Wired