ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นได้หันมาใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่อง จากอุตสาหกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ  จากสถิติหนึ่งในหลายสถิติ พบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นก่อให้เกิดน้ำเสีย 20% และปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นปริมาณ 10% ของโลก

ผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากขั้นตอนการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิต ซึ่งแบรนด์สินค้าไม่ได้ให้ความสนใจมากนักจนถึงขั้นละเลย จึงเป็นปัญหาระดับอุตสาหกรรมในวงกว้างที่เกิดขึ้นจากการที่ห่วงโซ่อุปทานแยกส่วนกันและมีความโปร่งใสน้อยลง องค์กรและแบรนด์สินค้าจำนวนมากได้ริเริ่มความพยายามที่จะรวบรวมและค้นหาข้อมูลที่นำไปสู่การตัดสินใจเรื่องการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของข้อมูลก็ยังคงมีอยู่เนื่องมาจากธรรมชาติของข้อมูลที่มีความซับซ้อนและครอบคลุมอยู่ทั่วโลก

หลังจากที่ Google ได้ร่วมงานกับ Current Global  ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมที่ช่วยผลักดันให้แบรนด์สินค้าแฟชั่นก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น  จึงเห็นว่า Google จะสามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ได้ด้วยเครื่องมือที่ใช้ระบบคลาวด์ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และวันนี้ Google ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการริเริ่มทดลองเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวที่งานประชุมสุดยอด Copenhagen Fashion Summit ซึ่งเป็นงานเพื่อความยั่งยืนที่สำคัญแห่งปีงานหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่น  

Google จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ สเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ เพื่อให้การริเริ่มทดลองนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทั้งนี้ แบรนด์สินค้าของ สเตลลา แมคคาร์ทนีย์ ได้บุกเบิกและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแฟชั่นสู่ความยั่งยืน โดยช่วยเผยแพร่กฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปิดตัวโครงการ Stella McCartney Cares Green ซึ่งเป็นอีกแขนงหนึ่งของมูลนิธิสเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ เพื่อรณรงค์เรื่องความยั่งยืนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Google หวังว่าการทำงานร่วมกันในโครงการนำร่องนี้ จะช่วยแปลผลข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีความหมายและเป็นประโยชน์เพื่อให้อุตสาหกรรมดังกล่าวนำไปลงมือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ กล่าวว่า “หัวใจสำคัญในการดำเนินงานของ องค์กรสเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ คือความมุ่งมั่นที่จะหาหนทางสู่ความยั่งยืนและความรับผิดชอบในด้านแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง เราพยายามอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็นับได้ว่าเราเป็นผู้เปิดประเด็นที่ไม่เคยมีใครได้กล่าวถึงมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการแฟชั่น”   

สิ่งแรกที่ Google จะเริ่มทำคือการสร้างเครื่องมือที่ใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลบน กูเกิล คลาวด์ เพื่อให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เห็นภาพที่ครอบคลุมของห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการผลิตวัตถุดิบ หรือที่เรียกกันในอุตสาหกรรมว่าห่วงโซ่อุปทานลำดับที่ 4

โดยที่จะเริ่มจากเส้นใยฝ้ายและวิสโคส ด้วยการพิจารณาจากขนาดในการผลิต ความง่ายในการหาข้อมูล และผลกระทบของวัสดุสองชนิดนี้ กล่าวคือ มีการใช้เส้นใยฝ้ายในอุตสาหกรรมแฟชั่นถึง 25% ของเส้นใยทั้งหมด และเกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อการใช้น้ำและยาปราบศัตรูพืช ส่วนการผลิตเส้นใยวิสโคส แม้จะมีขนาดเล็กกว่าแต่กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า (บางชนิดถึงขั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์) ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โครงการนำร่องนี้จะช่วยให้ Google สามารถทำการทดสอบความมีประสิทธิผลของเครื่องมือกับวัตถุดิบที่ต่างกันเหล่านี้ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ในการต่อยอดไปสู่การนำไปใช้กับสิ่งทอหลัก ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นในตลาดต่อไป

Google ได้วางแผนที่จะรวมเอาแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ช่วยให้บริษัทสามารถนำไปใช้ในการวัดผลกระทบจากวัตถุดิบของตนที่สัมพันธ์กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมสำคัญ ๆ เช่น มลภาวะทางอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ที่ดิน และความขาดแคลนน้ำ ซึ่งไม่ได้แค่มุ่งที่จะบ่งชี้ผลกระทบจากการผลิตวัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังต้องการเปรียบเทียบผลกระทบเหล่านี้ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ทำการผลิตด้วย

และนี่เป็นขั้นตอนแรกในการริเริ่มทดลองของ Google ที่กำลังมุ่งมั่นเดินหน้าที่จะร่วมงานกับแบรนด์สินค้าแฟชั่น  ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรไม่แสวงผลกำไร และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างเครื่องมือที่เปิดให้ใช้ทั่วทุกอุตสาหกรรม และวางแผนที่จะดำเนินการร่วมมือกับองค์กรหลักอื่น ๆ ในตลาดไม่ว่าระดับใหญ่หรือเล็ก พวกเราหวังว่าการริเริ่มทดลองของพวกเราจะทำให้ตราสินค้าแฟชั่นเห็นผลกระทบจากห่วงโซอุปทานของตนเองชัดเจนขึ้นและได้รับข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจสรรหาวัตถุดิบเพื่อความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น