หลายครั้งที่เราได้เขียนถึงเรื่องราวของความสำคัญและการเรียนโค้ดดิ้งว่าทำไม ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ลถึงได้บอกในการให้สัมภาษณ์กับ Ceemeagain และ Dailygizmo โดยระบุว่าควรให้โค้ดดิ้งเป็นภาษาที่ 2 เช่นเดียวกับในประเทศเราค่ะ ซึ่งทางคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เคยพูดกับสื่อหลายที่ ว่าควรให้วิชาโค้ดดิ้งเทียบชั้นภาษาที่ 3 ของไทยเรา 

วันนี้เราได้มีโอกาสร่วมพูดคุยและถามถึงประเด็นที่หลายคนต่างตั้งคำถามว่าทำไมต้องเรียน จากผู้ผลักดันตัวจริงในประเทศ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

โค้ดดิ้งคืออะไร ทำไมต้องเรียน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เล่าให้เราฟังว่าคำว่า “โค้ดดิ้ง” เป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกเรียก โดยโค้ดดิ้งนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม จนมหาวิทยาลัย และคนทั่วไป เพราะโค้ดดิ้งแต่ละระดับจะมีความแตกต่างที่สลับซับซ้อนกันออกไป 

โดยคุณหญิงกัลยา ได้ให้เหตุผลของการเรียนโค้ดดิ้งว่า โลกทุกวันเปลี่ยนแปลงเร็ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมคนในประเทศตั้งแต่เด็กเล็ก อนุบาล ประถมต้น ให้มีทักษะสมัยใหม่ที่โลกดิจิทัลต้องการ

โค้ดดิ้ง สร้างทักษะ 5 ด้าน

ปัจจุบันเด็กไทยอาจจะมีทักษะอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยดิจิทัลหรือคอมพิวเตอร์มีความจำเป็นที่ต้องมีทักษะอย่างน้อย 5-6 อย่างที่จะทำให้สามารถอยู่ในโลกและพัฒนาตัวเราเองได้
1 ทักษะในการอ่าน
2 ทักษะในการเขียน เขียนเพื่อสื่อสารกับใครต่อใครได้
3 ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ คิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุมีผล
4 ทักษะเชิงคณิตศาสตร์
5 กล้าตัดสินใจ

เด็กที่เรียนโค้ดดิ้งทุกคนจะต้องมีทักษะเหล่านี้ ดังนั้นการเรียนโค้ดดิ้งจึงเป็นการเรียนเพื่อสร้างทักษะต่างๆ ให้กับเด็ก เพื่อให้ชีวิตประจำวันของเด็กอยู่กับการมีเหตุมีผล 

การเรียนโค้ดดิ้งเริ่มในเด็กเล็ก 

ถ้าบอกว่าการเรียนโค้ดดิ้งต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ เลย หลายคนคงมีคำถามว่าทำไม คุณหญิงกัลยาเล่าว่าในเด็กเล็กที่เรียนโค้ดดิ้งยังไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ จะเป็นการเรียนแบบ อันปลั๊กโค้ดดิ้ง เรียนรู้จากการเล่น เรียนรู้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างทักษะต่างๆ ที่ควรมี 

วิชา โค้ดดิ้งในไทยเริ่มแล้ว เทอม 2 ปีการศึกษา 2562

วิชาโค้ดดิ้งในประเทศไทยได้เริ่มมีการทดลองเรียนแล้วในเทอม 2 ปีการศึกษา 2562 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการฝึกอบรมครู ซึ่งครูทุกคนที่เข้าอบรมไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน เรียนจบสาขาวิชาอะไรมาก็สามารถมาร่วมอบรมได้ แต่หลังจบการอบรมไปจะต้องเกิดการพัฒนา นำไปประยุกต์ใช้เพื่อสอนเด็กนักเรียน อย่างเช่น การเล่นเกม หรือ การทำกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กับการเรียนวิชาโค้ดดิ้งไปด้วย

คุณหญิงกัลยา บอกว่า หลักสูตรของกระทรวงศีกษาธิการ ในวิชาโค้ดดิ้งทุกๆ 5 ปีจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนหลักสูตรอยู่ตลอด แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในระยะเวลา 5 ปี อาจจะช้าเกินไป 

นอกจากนี้คาดว่าจะเห็นการเรียนการสอนวิชาโค้ดดิ้งเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2563 กว่า 25,000 แห่ง ก่อนที่ในปี 2564 จะเปิดการเรียนการสอนแบบเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ

โค้ดดิ้งช่วยสร้างอะไร

คุณหญิงกัลยา เล่าว่า การเรียนโค้ดดิ้งจะได้ทักษะที่โลกดิจิทัลต้องการ เข้าใจ มีตรรกะ เตรียมการ วางแผน คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุมีผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ กล้าตัดสินใจ ดังนั้นการเรียนโค้ดดิ้งเป็นการเรียนเพื่อสร้างทักษะ ให้เด็กทุกคนนำไปใช้แก้โจทย์ชีวิตของตัวเองที่จะเจอต่อไปในอนาคต เพื่อรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

“โค้ดดิ้งง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล Coding for all , all for Coding” นี่คือคำพูดที่คุณหญิงกัลยาทิ้งท้ายเอาไว้ ก่อนที่เราจะตั้งคำถามว่า การเรียนวิชาโค้ดดิ้งช่วยส่งเสริมด้านใดบ้าง 

คุณกัลยา บอกว่า การเรียนโค้ดดิ้งเป็นการเตรียมความพร้อมเด็ก เพื่อเผชิญสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในยุคข้างหน้า ถ้าได้เรียนโค้ดดิ้งจะสามารถเข้าสู่ศตวรรษดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเด็กสามารถแก้ปัญหากับมันได้ 

โค้ดดิ้งเป็นพื้นฐานที่โลกดิจิทัลต้องการ การที่รัฐบาลให้เด็กทุกคนเรียนจึงเป็นการนำพาประเทศชาติก้าวพ้นการ Disruptive Technology ได้ คุณหญิงกัลยา กล่าว