Google.org มอบทุนสนับสนุน 1.25 ล้านดอลลาร์ ในการเปิดตัว Global.health แพลตฟอร์มแบบเปิดที่รวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ระบุตัวตนหลายล้านรายจากกว่า 100 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้นักระบาดวิทยาทั่วโลกสร้างแบบจำลองวิถีของโควิด-19 รวมทั้งติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสและแจ้งการรับมือกับการแพร่ระบาดในอนาคต 

ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจและต่อสู้กับโรคต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ภาพประกอบที่วาดด้วยมือของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ในช่วงทศวรรษ 1800 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสุขาภิบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพมีส่วนทำให้เกิดโรคติดต่อได้อย่างไร ไปจนถึงแพลตฟอร์มสำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบโอเพ่นซอร์สแห่งแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตอีโบลาในปี 2014 ในแอฟริกาตะวันตก เมื่อมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกในอู่ฮั่น ข้อมูลก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอีกครั้งในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มนักวิจัยที่ทำการบันทึกการระบาดครั้งแรกได้ร่วมมือกันและเริ่มรวบรวมข้อมูลที่สามารถช่วยให้นักระบาดวิทยาทั่วโลกสามารถจำลองวิถีของการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้มาจากหลากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น โรงพยาบาลเด็กบอสตัน 

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการทำงานของพวกเขาในช่วงเริ่มแรกไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด นักวิจัยกลุ่มนี้จึงหันมาขอความช่วยเหลือจาก Google.org โดย Google.org ได้มอบทุนสนับสนุนให้แก่พวกเขาเป็นจำนวน 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนบรรเทาภัยโควิด-19 มูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ Google พร้อมทั้งจัดทีมอาสาสมัครแบบเต็มเวลาจากโครงการ Google.org Fellowship ที่เรียกว่า Google.org Fellows จำนวน 10 คน และอาสาสมัครแบบพาร์ทไทม์ของ Google อีก 7 คนเพื่อช่วยเหลือโครงการนี้

อาสาสมัครของ Google ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยกลุ่มนี้เพื่อสร้าง Global.health แพลตฟอร์มแบบเปิดที่สามารถปรับขนาดได้ซึ่งรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ระบุตัวตนหลายล้านรายจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แพลตฟอร์มนี้ช่วยให้นักระบาดวิทยาทั่วโลกสร้างแบบจำลองวิถีของโควิด-19 รวมทั้งติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสและการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

ความต้องการข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เชื่อถือได้และไม่ระบุตัวตน

เมื่อเกิดการระบาดของโรค การเข้าถึงข้อมูลที่มีการจัดระเบียบ น่าเชื่อถือ และไม่มีการระบุตัวตนอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำด้านสาธารณสุขในการแจ้งการตัดสินใจด้านนโยบายระยะแรก การแทรกแซงทางการแพทย์ และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคและช่วยชีวิตผู้คนได้ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากข้อมูลแบบ “บรรทัดรายการ” (เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับระดับอาการของผู้ป่วยที่ไม่ระบุตัวตน) ซึ่งตรงข้ามกับข้อมูลรวมอย่างเช่นจำนวนผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักระบาดวิทยาในการวิเคราะห์เชิงสถิติโดยละเอียดมากขึ้นและสร้างแบบจำลองประสิทธิภาพของการแทรกแซง

อาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเริ่มจัดการข้อมูลนี้ด้วยตนเอง แต่ก็มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์หลายร้อยแห่งในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายภาษา ด้านทีม HealthMap ที่โรงพยาบาลเด็กบอสตันได้ระบุรายงานเบื้องต้นของโควิด-19 ผ่านการสร้างดัชนีอัตโนมัติของเว็บไซต์ข่าวและแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ ทั้งสองทีมร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูล และเผยแพร่ผลการวิจัยที่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อสร้างทรัพยากรที่เชื่อถือได้สำหรับชุมชนทั่วโลก

การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคือหัวใจสำคัญในการออกแบบแพลตฟอร์มใหม่นี้ ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนที่นำมาใช้ใน Global.health มาจากแหล่งข้อมูลด้านสาธารณสุขแบบเปิดที่เชื่อถือได้และผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าการนำเสนอข้อมูลเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับความเป็นนิรนามที่เข้มงวด

การเข้าร่วมโครงการ Google.org Fellowship

เพื่อช่วยเหลือชุมชนนักวิจัยทั่วโลกในความพยายามที่มีความหมายนี้ Google.org จะให้การสนับสนุน Google.org Fellows จำนวน 10 คนที่ใช้เวลาถึง 6 เดือนในการทำงานแบบเต็มเวลาเพื่อสร้าง Global.health นอกเหนือจากทุนสนับสนุนจำนวน 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้การทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและโรงพยาบาลเด็กบอสตัน ทีมงาน Google.org ได้พูดคุยกับนักวิจัยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในแนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19 เพื่อทำความเข้าใจกับความท้าทายในชีวิตจริงที่พวกเขาต้องเผชิญเมื่อต้องค้นหาและใช้ข้อมูลคุณภาพสูงที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและเป็นกระบวนการที่ต้องทำด้วยตนเองซึ่งมักใช้เวลานานหลายชั่วโมง 

Google.org Fellows ช่วยทีม Global.health ในการออกแบบขั้นตอนการนำเข้าข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจสอบข้อมูลและการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลเข้ามาในแพลตฟอร์ม (ข้อมูลแบบบรรทัดรายการทั้งหมดที่เพิ่มลงในแพลตฟอร์มจะถูกจัดเก็บและโฮสต์ในโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่ปลอดภัยของโรงพยาบาลเด็กบอสตัน ไม่ใช่ของ Google)

มองไปสู่อนาคต 

ด้วยการสนับสนุนของ Google.org และ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำให้ Global.health กลายเป็นแหล่งรวมนักวิจัยระดับนานาชาติจากมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ดูแลจัดการฐานข้อมูลโควิด-19 แบบบรรทัดรายการที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยบันทึกที่ไม่มีการระบุตัวตนนับล้านรายการจากแหล่งที่เชื่อถือได้ซึ่งครอบคลุมกว่า 100 ประเทศ รวมถึงไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย กัมพูชา และเวียดนาม

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป Global.health จะช่วยให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีและด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง แพลตฟอร์ม Global.health มีความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับให้เข้ากับข้อมูลโรคติดเชื้อและบริบทในพื้นที่เมื่อเกิดการระบาดใหม่ๆ ได้ Global.health วางรากฐานสำหรับนักวิจัยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก เซาเปาโล มิวนิก เกียวโต หรือไนโรบี