ช่วงนี้เราจะได้ยินข่าวการรีแบรนด์ Facebook เพื่อเตรียมมุ่งที่จะสร้าง Metaverse โดยได้มีการประกาศแผนการจ้างพนักงานเพิ่ม 10,000 คนเพื่อทำงานเกี่ยวกับ Metaverse ในยุโรป
ถามว่า Metaverse คืออะไร? ถ้าใครเคยมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ของสปีลเบิร์ก ซึ่งเป็นเรื่องราวของโลกอนาคตที่ผู้คนต่างหลีกหนีโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปยัง The Oasis จักรวาลเสมือนจริงที่ทุกคนจะได้มี ได้เป็น และได้ทำสิ่งที่ปรารถนา นั่นแหละครับนิยามที่น่าจะทำให้พอเข้าใจแต่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น Metaverse นั้นปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนเพราะมันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่จะพาคุณเข้าสู่โลกเสมือนจริงในเกมส์เท่านั้น แตมันจะสามารถใช้งานในการทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งทำงาน เล่นเกมส์ ชมคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์ หรือการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนโดยที่ตัวยังอยู่ในห้องนอน
ซึ่งก่อนหน้านี้ Facebook ได้ลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนผ่านอุปกรณ์หูฟังโอคูลัส (Oculus) เพื่อทำให้มันมีราคาถูกกว่าของคู่แข่ง และอาจจะถึงขั้นขาดทุน พร้อมยังได้สร้างแอปพลิเคชัน VR หลายตัวสำหรับการสังสรรค์เข้าสังคมและการทำงาน รวมถึงตัวที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง
เทคโนโลยีเสมือนจริงกำลังเข้าใกล้เรามากขึ้น
แม้ปัจจุบันเรายังไปไม่ถึง Metaverse แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเสมือนจริงก็เริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตผู้คนมาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Virtual Reality(VR) การพาเราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงด้วยประสบการณ์รับรู้ผ่านการมองและได้ยิน ซึ่งชุด Set VR ก็เริ่มเข้ามาเป็น Gadget ประจำบ้านของใครหลายคน
Augmented Reality(AR) เทคโนโลยีที่นำข้อมูลดิจิทัลซ้อนทับอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ตัวอย่างที่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์มาแล้วก็เช่น โปรแกรมถ่ายวีดีโอคู่กับโยดาน้อย หรือเกมส์ Pokemon-GO ที่เคยโด่งดังนั่นเอง แต่ AR นั้นยังมีศักยภาพอีกมากเช่นนำไปประยุกต์ทำแว่นตาอัจฉริยะที่สามารถแสดงข้อมูลของสิ่งต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงให้เราเห็นได้
จนไปถึง Merged Reality หรือ Mixed Reality ซึ่งเป็นโลกผสานจริงที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีส่วนของ AR และ VR เข้ามาผสมผสานสร้างบางสิ่งขึ้นมาเชื่อมโยงไปกับโลกจริง โดยมีสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมให้เห็น มีมิติ ไม่ลอยอยู่เฉพาะด้านบนแบบ AR และตอบสนองได้ราวกับเป็นสิ่งที่มีอยู่บนโลกเราจริงๆ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ลดต้นทุนในการฝึกอบรมและสนับสนุนการซ่อมบำรุง
Digital twin ตัวตนเสมือนจริงของเราในโลกเสมือนจริง
ช่วงการกักตัวอยู่บ้าน ต้องมีการทำงานอยู่บ้าน บางคนอาจเคยได้มีโอกาสประชุมออนไลน์ผ่าน App ที่มีการสร้างห้องประชุมเสมือนจริงมีการสร้าง Avatar ของผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อใช้เป็นตัวแทนหรืออย่าง App Gather ซึ่งเป็น App ประชุมออนไลน์ที่มีการสร้างออฟฟิศเหมือนด้วยกราฟฟิคย้อนยุคเหมือนเกมส์ 8 บิท
ซึ่งฝาแฝดดิจิทัลหรือ Digital Twin นั้นเป็นมากกว่า Avatar เพราะเป็นการสร้างตัวตนของเราขึ้นมาในโลกเสมือนจริงและอาจจะทำให้เราสามารถลองสวมเสื้อผ้าดิจิทัลได้ก่อนที่จะสั่งเสื้อผ้าออนไลน์
Digital Twin เป็นชื่อเรียกของแนวคิดการทำสำเนาหรือแบบจำลองของสิ่งต่างๆทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทว่า Digital Twin เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงภาพจำลองที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริงผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่คอยเก็บข้อมูลสถานะทางกายภาพของวัตถุแบบ Real-time ทำให้แบบจำลองนั้นเป็นเสมือนการย้ายวัตถุไปไว้ในโลกดิจิทัลนั่นเอง เมื่อมีแบบจำลองวัตถุที่สมจริง สิ่งที่ตามมาคือความสามารถในการตรวจสอบสถานะของวัตถุอย่างละเอียดและความสามารถในการจำลองสถานการณ์ว่าหากสภาพแวดล้อมหรือสถานะจุดใดจุดหนึ่งภายในตัววัตถุเปลี่ยนไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับวัตถุ ซึ่งถ้าหากเรานำเอา Digital Twin ของวัตถุแต่ละชิ้นนั้นมาเชื่อมต่อกันให้กลายเป็นระบบจำลองขนาดย่อมๆได้ ทำให้เราสามารถจำลองสถานการณ์และทำนายความเป็นไปได้ในภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น
Digital Twin นั้นพัฒนาขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใช้งานทางธุรกิจซึ่งก็ได้มีการแตกแขนงมาสู่การจำลองอัตลักษณ์ของบุคคลจนนำมาสู่อุตสาหกรรมความบันเทิงอย่างเช่นในเทศกาลตรุษจีนในปี 2019 รายการโทรทัศน์ Spring Festival Gala ทางช่อง China Central Television ของจีนนั้นพิธีกรในรายการทั้ง 4 คนได้ดำเนินรายการร่วมกับ Digital Twin ของตัวเอง ซึ่งสามารถสื่อสารโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ
หรืออย่าง “AESPA” เกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่จากค่าย SM Entertainment ของเกาหลีที่มีทั้งสมาชิกวงที่เป็นคนจริงและสมาชิกวงที่เป็นร่างอวตารเพื่อลุยโลกดิจิทัลนับเป็นการเปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปที่สร้างความฮือฮา โดยร่างอวตารทั้ง 4 นั้นก็จะมีอัตลักษณ์ที่เหมือนกับสมาชิกทั้ง 4 คน
Virtual Influencer คนดังที่โลดแล่นบนโลกเสมือนจริง
นอกจากตัวตนดิจิทัลในวงการบันเทิงแล้วเราคงเริ่มได้ยินเรื่องราวของ Virtual Influencer กันมากขึ้นอย่างล่าสุดที่ AIS ได้มีการเปิดตัวน้องไอรีน Virtual Influencer คนแรกของไทย เข้ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุดของครอบครัว AIS
Virtual Influencer คืออินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากโปรแกรมต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะไม่มีเลือดเนื้อหรือตัวตนอยู่จริงแต่บนโลกเสมือนจริงนั้นพวกเขาจะเป็นใครก็ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ จะมีพฤติกรรมหรือนิสัยแบบใดก็สุดแท้แต่บริษัทหรือแบรนด์ผู้สร้างจะออกแบบ
จุดแข็งที่ได้เปรียบมนุษย์คือพวกเขาไม่ป่วย ไม่แก่ ไม่ตาย และแบรนด์ยังสามารถควบคุมอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ได้หมดทั้งรูปลักษณ์หน้าตา ลักษณะนิสัย การพูดจา แม้กระทั่งทัศนคติหรือความคิด ไม่มีอะไรที่จะหลุดออกไปจากกรอบที่แบรนด์ตั้งไว้อย่างแน่นอน แม้กระทั่งการออกอีเวนต์ต่าง ๆ พวกเขาก็สามารถปรากฏตัวในหลาย ๆ สถานที่พร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน จะรับกี่งานก็ไม่มีปัญหา ดังนั้นในระยะหลัง ๆ จึงได้มีการสร้างอินฟลูเอนเซอร์โลกเสมือนออกมามากมาย ทั้งจากบริษัทสตาร์อัพเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปจนถึงกระทั่งบางแบรนด์เองที่เลือกลงทุนระยะยาวด้วยการพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์โลกเสมือนประจำแบรนด์ไปเสียเลย
จากความจริงเสมือนสู่ความจริงที่ถูกบิดเบือน
ในช่วงไม่มีกี่ปีที่ผ่านมาผู้คนได้รู้จัก Deepfake โปรแกรม AI ที่สร้างความสับสนและพรั่นพรึงกับผู้คนในสังคม กับวีดีโอปลอมของบุคคลต่าง ๆ ที่มาพูดหรือทำอะไรทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยทำเลย ซึ่งมันก็ดูแนบเนียนจนแยกแทบไม่ออก สร้างคำถามต่อผู้คนว่าเราจะเชื่อสิ่งที่เห็นในอินเตอร์เนตได้อีกหรือไม่
ตัวเทคโนโลยี DeepFake เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2017 จากผู้ใช้งานบน Reddit ชื่อผู้ใช้งาน Deepfake ได้ใช้ภาพใบหน้าของดาราดังระดับโลกหลายคนเข้ามาแทนที่ใบหน้าของดาราหนังโป๊ รวมไปถึงการนำใบหน้าดาราดังอย่าง Nicolas Cage ไปใส่ในภาพของหนังหลายเรื่องที่เขาไม่ได้แสดง
Deepfake มาจาก 2 คำศัพท์ ได้แก่ Deep learning และ Fake โดย Deep learning เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ทำหน้าเรียนรู้อัตลักษณ์ของบุคคลที่เฉพาะเจาะจงลงไปอย่างลึกซึ้ง เช่น ใบหน้า สีผิว รูปร่าง และท่าทางการเคลื่อนไหว การพูดจา และน้ำเสียง แล้วจึงแสดงผลออกมาตามคำสั่งที่ป้อนเข้าไปในรูปแบบต่าง ๆ อย่างอิสระราวกับบุคคลนั้นกำลังปรากฏตัวและพูดอยู่หน้ากล้องจริง ๆ นอกจากนั้นยังสามารถตัดสินใจกระทำการบางอย่างโดยอิงจากฐานข้อมูลที่เรียนรู้มาอีกด้วย ส่วน Fake นั้นก็คือ การปลอมแปลง หรือ การทำเทียม พอนำ 2 คำมารวมเป็น Deepfake ก็คือ การปลอมแปลงอัตลักษณ์ของบุคคลด้วยปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง
ดังนั้นแล้ว Deepfake สามารถนำมาก่อให้เกิด Fake News ได้ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบิดเบือนความจริง และปัจจุบันก็ได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการหาวิธีแยกแยะ Content ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย AI นี้ ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือใช้โจรจับโจร นั่นก็คือพัฒนา AI มาคอยตรวจจับ Deepfake นั่นเอง
****************************************************************************************
ในอนาคตความจริงนั้นคงยากที่จะแยกแยะและโลกเสมือนจริงอาจจะกลายเป็นโลกในฝันของใครหลายคน เป็นเหมือนที่หลบภัยซึ่งผู้คนเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงเพื่อที่จะได้หลีกหนีจากความโหดร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง. . .
**************************************************************************************
อ้างอิง
https://www.dailygizmo.tv/2021/10/22/facebook-rebrand/
https://www.bbc.com/thai/international-58946076
https://dict.longdo.com/blog/deepfake/
https://www.techtalkthai.com/introduction-to-digital-twin-by-cat-datacom/