ถึงแม้สติ๊กเกอร์บนแอพแชทจะได้รับความนิยมมากแค่ไหน แต่ WhatsApp ก็ประกาศกร้าวว่าไม่สนใจจะทำสติ๊กเกอร์ออกมาขายในแอพของตัวเอง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Jan Koum ผู้บริหารของ WhatsApp เปิดตัวฟีเจอร์ push-to-talk สำหรับทุกแพลตฟอร์ม แม้ว่าคู่แข่งจะเปิดให้บริการฟีเจอร์นี้ก่อนหน้าแล้ว ทั้ง Facebook Messenger, LINE และ Kakao Talk

ทั้งแอพ LINE และ Kakao Talk เป็นสองแอพแชทที่เป็นผู้นำด้านการสร้างรายได้ และมีอัตราผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการเพิ่มลูกเล่นอื่นๆที่มากกว่าการพิมพ์ข้อความ เช่น สติ๊กเกอร์,เกม, การร่วมทำการตลาดกับแบรนด์ต่างๆ แค่ไตรมาสที่สองของปีนี้ ไลน์มีรายได้ถึง 132 ล้านดอลล่าร์ โดย 80 % มาจากการขายสติ๊กเกอร์และไอเท็มในเกม ส่วน Kakao Talk แค่ครึ่งปีแรกก็มีรายได้สูงถึง 311 ล้านดอลล่าร์ซึ่งรายได้หลักมาจากเกมอย่างเดียว

ส่วนรายได้เดียวของ WhatsApp มาจากการเก็บค่าบริการายปี 99 เช็นต์ โดยให้บริการฟรีแค่ปีแรกปีเดียว แม้ตัวเลขรายได้จากช่องทางอื่นๆของแอพแชทสัญชาติเอเชียจะดึงดูดมากแค่ไหน แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า WhatsApp ยังดื้อดึง ยึดติดกับวิธีหายรายได้แค่ทางเดียว

วิธีที่ WhatsApp เหมือนจะใช้วิธีแบบโบราณ เรียกว่าใครไม่อยากจ่ายเงินก็ไม่ต้องมาใช้ ถึงแม้รายได้จากค่าบริการส่งข้อความเป็นรายได้หลัก แต่ก็มีความมั่นคงและสม่ำเสมอ ผู้ใช้หลายคนยินดีจ่ายเงิน 99 เซ็นต์ต่อปีเพราะมันไม่ได้แพงอะไร ปัจจุบัน WhatsApp มีผู้ใช้งานเป็นประจำถึงเดือนละ 300 ล้านคนทั่วโลก (ที่น่าสนใจก็คือทีมงานของ WhatsApp มีแค่ 45 คนแต่ดูแลผู้ใช้ 300 ล้านคนทั่วโลก)

แอพแชทจากเอเชียถึงจะร้อนแรงแต่ก็เจาะตลาดไม่ได้ทั่วโลก

ในการเพิ่มยอดผู้ใช้ ปกติแล้วแพลตฟอร์มต่างๆต้องหาจุดขายด้วยการนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า WhatsApp เองก็เริ่มจากจุดนี้ ด้วยการส่งข้อความที่สะดวกและประหยัดกว่าการส่ง SMS แบบเดิมๆที่คิดค่าส่งรายข้อความ แต่ WhatsApp สามารโหลดใช้งานได้ฟรีในปีแรก ส่งข้อความหาเพื่อนได้แบบไม่จำกัดแค่มีอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

แต่เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น คนที่เข้ามาใหม่ก็ต้องทำอะไรที่แตกต่างออกไป ให้อะไรที่ผู้นำตลาดไม่มี ดังนั้น Kakao, Line และ WeChat จึงก้าวเข้ามาด้วยการเสริมฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากกว่าส่งข้อความ ด้วยเกมและการขายสติ๊กเกอร์ แต่พื้นฐานการใช้งานก็คือการแชทอยู่ดี ตรงจุดนี้ก็ถือว่ายังไม่ส่งผลอะไรมากมาก ถ้าผู้ใช้ส่วนใหญ่ของ WhatsApp ไม่สนใจเล่นเกม จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนไปใช้แอพอื่น ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้แอพแชทจากเอเชียยังเจาะตลาดฝั่งยุโรปและอเมริกาได้ยากอยู่

ทาง Onavo Insights ได้เผยแพร่ข้อมูล infographic แอพแชทยอดนิยมบน iOS ของผู้ใช้ในแต่ละประเทศ ซึ่งเราพอจะเห็นภาพรวมว่าแอพแชทจากเอเชียมีผู้ใช้ในเอเชียเยอะ ส่วนแอพแชทฝั่งตะวันตกก็ได้รับความนิยมในอเมริกาและยุโรป

WhatsApp หัวโบราณ

ทาง Jon Russell จาก The Next web ออกมาวิจารณ์ว่า Koum กำลังมองข้ามฟีเจอร์ต่างๆที่ LINE และ Kakao มี ว่าสิ่งเหล่านี้จะมารบกวนการสื่อสารของผู้ใช้ แต่ฟีเจอร์ทำเงินเหล่านี้ไม่ได้รบกวนการสื่อสารอย่างที่เค้าเข้าใจ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น การส่งสติ๊กเกอร์มันคือการส่งภาพแทนคำพูดโดยไม่ต้องพิมพ์ การที่แอพแชททำอะไรได้มากกว่าส่งข้อความก็ย่อมจะดึงดูดผู้ใช้หน้าใหม่ๆได้ไม่ยาก

ปััจจุบัน WhatsApp มีทีมงานแค่ 45 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแอพจากเอเชีย ถ้า WhatsApp ลงทุนทั้งเงิน, เวลาและคนในการพัฒนาเกมและสติ๊กเกอร์ออกมาบ้างก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าคนเกิดเบื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ล่ะ?

แต่ถ้า WhatsApp ยังคงใช้วิธีการแบบเดิมๆ เน้นการเก็บค่าบริการรายปี มัจะทำรายได้มากกว่านี้ได้ยังไง? แล้วถ้าเกมและสติ๊กเกอร์เป็นแหล่งรายได้ยั่งยืนล่ะ? ตลาดเอเชียต่อไปจะเป็นยังไงเมื่อผู้ใช้หายไปเรื่อยๆ? สิ่งเหล่านี้คือการบ้านที่ WhatsApp ต้องเก็บไปคิดหนักว่าจะคงแนวทางแบบเดิมๆไว้หรือหาวิธีใหม่ๆเพื่อดึงดูดผู้ใช้

VIA TNW