CISCO โชว์ผลสำรวจอาเชียนมีความพร้อม Digital Transformation มากกว่าภูมิภาคอื่น พร้อมเผยทิศทางธุรกิจปี 2562 เน้นสร้างผู้นำทางความคิด, โฟกัสอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงและขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

หลังจากที่เทคโนโลยีเข้ามา Disruption ทำให้หลายธุรกิจล้มหายตายจาไปเนื่องจากปรับตัวไม่ทัน ทำให้ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจนั้นต่างก็พูดถึงคำว่า Digital Transformation หรือการปรับองค์กรเข้าสู่ดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม สร้างรูปแบบการแข่งขันใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าได้ดีกว่าคู่แข่งรายเดิมที่อยู่ในตลาด ผ่านเทคโนโลยีใหม่อย่าง Cloud, IoT, Big Data รวมไปถึง AI ทำให้เกิดมูลค่ากับธุรกิจ ทั้งในแง่ของการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง CISCO ได้จัดงาน CISCO Kickoff FY 2019 โดยคุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ได้ออกมาเผยทิศทางของตลาดรวมถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น

ผลสำรวจของ CISCO พบว่า แม้องค์กรต่างๆจะพยายามปรับตัวสู่ Digital Transformation แต่ก็ไม่ได้สำเร็จทุกองค์กร ภายในปี 2020 นั้น 75% ของทุกธุรกิจจะเข้าสู่กระบวนการปรับตัวสู่ดิจิทัล แต่มีแค่เพียงองค์กรแค่ 30% เท่านั้นที่ปรับตัวได้ความสำเร็จ ซึ่งพื้นฐานขององค์กรที่จะก้าวข้ามไปได้จะต้องมี

  1. Hyper Aware มีความตระหนักรู้สูง คือ ต้องรู้ข้อมูลจากทุกภาคส่วนขององค์กร ไม่ว่าทรัพย์สินขององค์กร, กระบวนการต่างๆในบริษัท, พฤติกรรมของคนทั้งพนักงานและลูกค้า โดยองค์กรจะต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้
  2. Predictive เมื่อเรามีข้อมูลที่ต้องการแล้ว ก็ต้องนำมาวิเคราะห์ คาดการณ์โอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากนั้นก็นำมาวางแผนและกลยุทธ์เพื่อรับมือ
  3. Agile คือการนำแผนที่วางไว้นำมาปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Transformation

แน่นอนว่าหลายๆอุตสาหกรรมย่อมได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสู่ดิจิทัล ทาง CISCO มองว่า 3 อุตสาหกรรมหลักต่อไปนี้จะได้รับผลกระทบมากสุด โดยจะให้ความสำคัญอย่างมากในปี 2019

อุตสาหกรรมการเงิน (Financial Service) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาให้บริการแบบไร้รอยต่อมากขึ้น อย่างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นแอปของทุกธนาคารปรับโฉมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ มีการสอดแทรกไปยังผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆมากขึ้น ธนาคารต่างๆก็มีการเปิด API ให้เชื่อมต่อการจ่ายเงินกับบริการอื่นๆได้ง่ายขึ้นอย่างในไทยก็เห็นแอปธนาคารเปิดส่วนของ Marketplace สั่งซื้อสินค้าได้จากแอปธนาคารได้เลย

ส่วนแนวโน้มในอนาคตธนาคารจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งานมากขึ้นในเวลา 5 ปีข้างหน้าก็มี Blockchain, AI และ Robotics

อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ก็จะมีการพูดถึงอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น การนำเทคโนโลยีอย่าง Cloud, IoT, Big Data มาใช้นั้นจะช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น, ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงช่วยประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที

ภาครัฐ (Public Sector) ภาครัฐเองก็มีแรงกดดันจากภาคประชาชน ในการกดดันให้เร่งเกิดการปรับตัว Digital Transformation ทุกภาคส่วนเองก็ต้องเร่งเอาเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นด้านของ Smart City, การศึกษา, การคมนาคมขนส่ง, สุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพของชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

Digital Transformation กับการจ้างงาน

จากงานวิจัยของ Oxford เกี่ยวกับการจ้างงานในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่าแม้การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจในอาเชียนดีขึ้น ช่วยยกระดับประสิทธิผลและความรุ่งเรืองมากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ความต้องการตำแหน่งงานจะลดลงถึง 28 ล้านตำแหน่ง ส่วนไทยนั้นตำแหน่งงานจะหายไปถึง 4.9 ล้านตำแหน่ง ซึ่งงานเหล่านี้จะเป็นงานซ้ำๆหรืองานที่ต้องทำเป็นประจำ งานที่ไม่ต้องใช้ความสามารถอะไรมากมาย ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วย AI และระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยลดต้นทุนจากแรงงานคน ซึ่งไทยเองในภาคการเกษตรนั้นจะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ในทางกลับกันก็มีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆ งานที่ต้องมาควบคุมเทคโนโลยี

ความพร้อมของภูมิภาคอาเชียนในการทำ Digital Transformation

ซิสโก้เผยผลการศึกษามีชื่อว่า Ready, Steady, Unsure – A Technology Perspective into Asia-Pacific’s Readiness for Digital Transformation (มุมมองด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับความพร้อมของเอเชียแปซิฟิกสำหรับการปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล) โดยบริษัทวิจัยที่เป็นบุคคลที่สาม ทำการสัมภาษณ์ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไอที 1,325 คนในบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนในภาคการผลิต การศึกษา ค้าปลีก บริการด้านการเงิน ภาครัฐ และสาธารณสุข ในประเทศออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า

  • บริษัทส่วนใหญ่ในอาเซียนมั่นใจว่า กลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ (94%)
  • มีความพร้อมเพียงพอในการปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (93%) 
  • บริษัทในอาเซียนมีความมั่นใจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (84%)

แม้บริษัทต่างๆ ในอาเซียนมีความพร้อมในการเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ระดับความเชื่อมั่นของแต่ละบริษัทก็ต่างกันออกไป ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่นั้นจะมีความเชื่อมั่นน้อยกว่าบริษัทเล็ก

  • ผู้บริหารฝ่ายไอทีในองค์กรขนาดใหญ่ (บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน) 19%  คิดว่าองค์กรของตนไม่มีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
  • ผู้บริหารฝ่ายไอทีในองค์กรขนาดเล็ก 7% คิดว่าองค์กรของตนไม่มีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

สาเหตุหลักคือ บริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าและเพิ่งเปิดดำเนินงานมาไม่นาน ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีมากนัก เทียบกับบริษัทใหญ่ที่ใช้ระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัยและฐานผู้ใช้จำนวนมาก แถมระบบส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการโดยคน ดังนั้นการพัฒนาระบบไอทีในบริษัทเล็กจึงคล่องตัวและรวดเร็วกว่านั่นเอง

เทคโนโลยีสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจ

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าความมั่นใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัลของธุรกิจจะอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราการปรับใช้เทคโนโลยียังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามในอาเซียน

  • ผู้บริหารมองว่าเทคโนโลยีคลาวด์มีความสำคัญมากที่สุดถึง 68% แต่การนำมาปรับใช้ยังมีแค่ 60%
  • การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญรองลงมาแต่มีการปรับใช้แค่ 59%
  • เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูลตามมาอันดับที่สาม มีการปรับใช้ 55%
  • อันดับสุดท้ายคือ ระบบงานอัตโนมัติ มีการปรับใช้ 48%

ในส่วนของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปรากฏว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (47%) ยอมรับว่าองค์กรของตนใช้แนวทางป้องกันเชิงรับ และติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยและทำการอัพเกรดระบบเฉพาะหลังจากที่เกิดปัญหาการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยแล้วเท่านั้น

อุปสรรคสำคัญในการทำ Digital Transformation

ผู้บริหารฝ่ายไอทีชี้ว่า อัตราการปรับใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจาก

  • ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (47%) เนื่องจากหลายบริษัทยังมองว่า ฝ่ายไอทีเป็น Cost center มีแต่รายจ่ายสูงแต่ไม่เห็นมูลค่าที่ได้กลับมาจากการลงทุน
  • การขาดแคลนบุคลากร (43%)
  • โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ไม่เหมาะสม (42%) เป็นผลมาจากระบบไอทีที่เก่าเกินไป

แม้ว่าผู้บริหารฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ (92%) ในอาเซียนระบุว่าบริษัทของตนได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย ทั้งในส่วนของเครือข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (46%) ยอมรับว่าบริษัทได้ละเลยเรื่องนวัตกรรมและบริการหลังการขาย เพื่อแลกกับราคาโดยรวมที่ถูกลง  อย่างไรก็ดี การตัดสินใจโดยพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นหลักส่งผลให้ผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่าหนึ่งในสาม (37%) ไม่กล้าตัดสินใจและไม่มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่องค์กรมีอยู่จะสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

cisco

กลยุทธ์ธุรกิจในไทยและภูมิภาคอินโดจีนของ CISCO ปี 2019-2021

ทาง CISCO เองก็มีโซลูชั่นและให้ความช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการสร้างรากฐานเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งทั้งในในส่วนของเครือข่าย ระบบคลาวด์ ความปลอดภัยไซเบอร์ซีเคยวริตี้ รวมถึงการจัดการใช้งานและปกป้องที่ง่ายดายขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆหันไปโฟกัสด้านการสร้างนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆได้ง่ายขึ้น โดยแผนงานในปีหน้าจะมีดังนี้

  1. สร้างผู้นำทางความคิด ด้วยการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริหารและองค์กรต่างๆเห็นความสำคัญของ Digital Transformation
  2. เน้นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงด้านของ Digital Transformation โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเงิน, การผลิต, ภาครัฐและการศึกษา
  3. เพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะส่วนของ INDEPENDENT SOFTWARE VENDOR (ISV)
  4. Service Provider As a Channel (SPaaCH) ทาง CISCO จะจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็น Service Provider มาช่วยเป็นอีกช่องทางในการบริหารจัดการบริการและทำตลาดมากขึ้น

ในส่วนของเทคโนโลยีประเทศไทยนั้น จะให้ความสำคัญ 4 ด้านก็คือ

  1. ใช้งาน Multi-cloud ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากหลายที่เริ่มใช้บริการคลาวด์จากหลายๆเจ้าร่วมกันไม่ว่าจะเป็นของ AWS หรือ Google ซึ่งทาง CISCO เองก็มี Solution ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงอัพเกรดเรื่องของความปลอดภัยได้ตามต้องการเพื่อรองรับการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ
  2. เพิ่มระบบ Security หลายชั้น เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
  3. ปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่
  4. Social Innovation ผ่านโครงการ CSR ต่างๆ