ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่าการเรียนการสอนโค้ดดิ้งนั้น ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณ ซึ่งในประเทศไทยเองได้เริ่มปูพื้นฐานการเรียนวิชานี้ในเด็กวัยประถมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ได้เริ่มเรียนวิชานี้แล้วอย่างเป็นทางการ


โดยวันนี้เรามีโอกาสสัมภาษณ์ พูดคุย กับอาจารย์ผู้สอนวิชาโค้ดดิ้ง
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เพียงตา​ กิจหิรัญวงศ์​ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตรและการสอนและหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายประถม) ได้เล่าให้ฟังว่า ในวิชาโค้ดดิ้ง ที่ดูเป็นอะไรที่ใหม่มากนี้ การเตรียมตัวของผู้สอนถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากเลยทีเดียว

โค้ดดิ้งเริ่มในชั้นประถมเพื่อคิดเป็นขั้นตอน

สำหรับการเรียนการสอนวิชาโค้ดดิ้งนี้ ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยในปี 2562 มีการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ,2, 4 และ 5 ขณะที่ในปีหน้า (2563) จะมีการเรียนการสอนครบทุกระดับชั้น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพียงตา​ กิจหิรัญวงศ์​ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตรและการสอนและหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายประถม) หนึ่งในอาจารย์ผู้สอนวิชาโค้ดดิ้ง ได้กล่าวว่า การสอนวิชาดังกล่าวต้องดูแนวทางหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการว่า
“โค้ดดิ้ง” ในแต่ระดับชั้นต้องการให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ก่อนที่จะวางแผนการเรียนการสอน 


เพราะวิชาโค้ดดิ้งเป็นเรื่องของการสอนให้เด็กคิดอย่างเป็นขั้นตอน สามารถเรียนรู้คิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตอนได้ ฝึกเรียนรู้การใช้คำสั่งอย่างง่าย อย่างเช่นการออกคำสั่งที่จะต้องใช้ในหุ่นยนต์ เป็นต้น 

อาจารย์ผู้สอนต้องเรียนรู้และทำการบ้าน

นับว่าเป็นโจทย์ยากของอาจารย์ผู้สอนที่จะทำการสอนวิชาโค้ดดิ้งซึ่งถือเป็นวิชาใหม่ในหลักสูตร โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) ได้มีการเตรียมตัวก่อน ด้วยการเชิญวิทยากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ว่าวิชาโค้ดดิ้งนั้นจะต้องสอนยังไง มีโปรแกรมอะไรที่เด็กต้องเรียนรู้บ้าง เพื่อที่อาจารย์จะได้ทำความเข้าใจในหลักสูตรนี้ก่อนลงไปสอนจริง


ซึ่งทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม นับว่าโชคดีอย่างมากได้วิทยากรจากแอปเปิ้ลเข้ามาช่วยโดยนำหลักสูตรของต่างประเทศมาช่วยดูว่าในเนื้อหาการเรียนแบบนี้ควรเอากิจกรรมแบบไหนมาเสริมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากง่ายไปยาก 

วิชาโค้ดดิ้งในประถม คือการฝึกฝนให้เด็กแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน

การเรียนการสอนวิชาโค้ดดิ้งในระดับประถมนั้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาทักษะของเด็กได้ คือ สามารถคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้น เป็นตอน แม้ว่าในชั้นเรียนจะมีหนึ่งปัญหาที่เหมือนกัน แต่ทุกคนจะมีแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันด้วยวิธีของตนเอง


ดังนั้นวิชาโค้ดดิ้งจะช่วยพัฒนาทักษะให้เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ โดยการมองปัญหาออก มีกระบวนการแก้ปัญหาควบคู่ไปกับเรียนรู้ ช่วยให้พัฒนาในเรื่องการคิด เพราะเทคโนโลยีมาไวต้องเรียนรู้ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

วิชาโค้ดดิ้งเรียนไปทำไม เรียนอะไรบ้าง

เราไม่รู้เลยว่าในวันข้างอีก 10 ปี 20 ปี จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกกี่หลายร้อยอาชีพ ดังนั้นการเรียนโค้ดดิ้งเป็นการเรียนเรียนเพื่อเตรียมตัวรับมือกับความพร้อมในวันข้างหน้า โดยการสร้างพื้นฐานในวันนี้ให้เข้าใจว่าขั้นตอนพื้นฐานของการเขียนโค้ด หรือออกคำสั่งต่างๆ เป็นอย่างไร เพื่อนำไปต่อยอดในวันข้างหน้า รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อนาคตที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร

โดยสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องเรียนในวิชา โค้ดดิ้ง มีดังนี้
1 เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา  กระบวนขั้นตอนในการแก้ปัญหา
2 เรียนรู้การสั่งงานหุ่นยนต์โดยใช้คำสั่งต่างๆ
3.สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นของคำสั่งที่ใช้กับหุ่นยนต์ได้
ซึ่งในแต่ละชั้นเรียนจะมีความง่าย ยากที่แตกต่างกันไป 

โค้ดดิ้งคือส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณ 

วิชา โค้ดดิ้ง เป็นการสอนให้เด็กคิดอย่างเป็นขั้นตอน เรียนรู้เรื่องการใช้คำสั่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งในวิชา วิทยาการคำนวณ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม


เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิชาที่น่าสนใจและกำลังมีหลายสถาบันให้ความสำคัญแม้แต่ภาครัฐก็พยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการปูพื้นฐานในวัยเด็กเพื่อต่อยอดไปยังอนาคตให้ได้เรียนรู้ วางแผน วิเคราะห์ และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่รู้ว่าอีก 10 ปี  20 ปี ข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาและจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ไปในทิศทางใด

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต Pixabay