ธนาคารแห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ถือเป็นธนาคารแรกของโลกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ช่วยลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการออกพันธบัตร

ไอบีเอ็มประกาศในงาน SIBOS ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทภายในสองสัปดาห์ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนบนไอบีเอ็มคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง ช่วยให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการออกพันธบัตรที่เร็วขึ้น จากเดิม 15 วันเหลือเพียง 2 วัน โดยบล็อกเชนยังช่วยให้สามารถลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการออกพันธบัตรลง

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่ามูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ เดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่าประมาณ 13.304 ล้านบาท โดยพันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าสูงสุดในตลาด ด้วยมูลค่า 4.947 ล้านบาท  เท่ากับ 37% เมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย

ในอดีต การขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และใช้เวลามาก ผ่านระบบที่ไม่สามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ซ้ำซ้อนและการกระทบยอดบัญชีแบบแมนวลที่เสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูล

เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้กระบวนการออกพันธบัตร ที่เกี่ยวข้องกับผู้ออกพันธบัตร ผู้จัดจำหน่าย นายทะเบียน และนักลงทุน รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็ม มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ช่วยให้แพลตฟอร์มพันธบัตรรัฐบาลเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งเดียวที่ให้ข้อมูลเรียลไทม์ที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้แก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในเครือข่าย อีกทั้งยังช่วยลดกระบวนการการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกระทบยอดบัญชี นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถซื้อพันธบัตรเต็มสิทธิ์ได้ที่ธนาคารเดียว

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานแปดแห่ง ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และธนาคารตัวแทนจำหน่าย ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนและแพลตฟอร์มคลาวด์ของไอบีเอ็มรองรับ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลสร้างประโยชน์และคุณค่าในเชิงธุรกิจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ลงทุนได้รับพันธบัตรรวดเร็วขึ้น ลดประมาณงานและระยะเวลาในการดำเนินการของผู้ออกพันธบัตร ผู้จัดจำหน่าย นายทะเบียน อีกทั้งยังเพิ่มความโปร่งใสและลดต้นทุนการดำเนินการตลอดกระบวนการ

“ความสำเร็จของโครงการพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถพลิกโฉมการดำเนินงานของธุรกิจ ผ่านกระบวนการที่ลดความซับซ้อน และทำให้ความร่วมมือของหน่วยงานหลายฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โปร่งใสขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทยกล่าว “ไอบีเอ็มมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้นำแพลตฟอร์มบล็อกเชนระดับโลกและไอบีเอ็มคลาวด์เข้าสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทย และมีส่วนร่วมทำงานเคียงข้างสู่ไมล์สโตนความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเงินไทย”
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะขยายการใช้บล็อกเชนเพื่อรองรับพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลทุกประเภท ทั้งสำหรับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกลุ่มนักลงทุนสถาบันแบบ wholesale ต่อไป
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ โดยมีอีโคซิสเต็มทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความเคลื่อนไหวร่วมมือต่อเนื่อง ในปี 2562 แพลตฟอร์มหนังสือค้ำประกันโดยบีซีไอได้เริ่มเปิดใช้งานจริง โดยมีธนาคาร 22 แห่งและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 15 รายเข้าร่วม โดยปัจจุบันรองรับการทำหนังสือค้ำประกันมูลค่าประมาณ 9.5 พันล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานราชการลำดับที่สองในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทรดเลนส์ (TradeLens) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้าโลกบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ให้กับการขนส่งทางเรือทั้งในและระหว่างประเทศ โดยยังมีโครงการนำร่องและการเตรียมนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจการเงิน ประกันภัย และภาครัฐ ที่กำลังจะเปิดตัวอีกหลายโครงการ