คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯคิดค้นเครื่องตรวจโควิดจากกลิ่นเหงื่อ รู้ผลใน 30 วินาที ใช้เสริมทัพสุนัขดมกลิ่นเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทเชฟรอนประเทศไทยที่ใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจเหงื่อเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการในชุมชน มาวันนี้ได้มีการต่อยอดเป็น  “เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพา” (Portable sweat test for COVID detection) เพื่อช่วยเสริมทัพสุนัขดมกลิ่น เพื่อให้เร่งตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้เร็วและมากขึ้น

ทางผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำตัวอย่างจากการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ตรวจโดยสุนัขดมกลิ่น มาวิเคราะห์ในห้องแล็ปเพื่อศึกษาวา สารจากที่สุนัขได้กลิ่นจากผู้ติดเชื้อคือสารอะไร จนพบสารอะโรมาติกที่ผลิตจากแบคทีเรียบางชนิดในเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด ต่อยอดออกมาเป็นนวัตกรรมเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด

คามยากของโครงการนี้ก็คือกลิ่นเหงื่อของคนนั้นจะมีกลิ่นแตกต่างกันมากกว่า 100 กลิ่น ซึ่งแต่ละคนมีกลิ่นจำเพาะที่ไม่เหมือนกัน ส่วนนึงอาจจะมาจากแป้ง โรออลหรือน้ำหอมที่ใช้ รวมถึงแบคทีเรียที่กินอาหารในเหงื่อหรือสารคัดหลั่งใต้ผิวหนัง จากนั้นจะขับสารออกมาเป็นกลิ่นที่ปนมากับเหงื่อ

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แบคทีเรียจะตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างไม่เป็นปกติและผลิตบางกลิ่นที่ต่างออกไป ซึ่งจากการศึกษา เราพบว่ามีหลายกลิ่นสำคัญที่มีลักษณะจำเพาะอาจจะบ่งบอกว่าเป็นกลิ่นของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19

เครื่องตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบพกพา

เครื่องตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 พัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดทางเคมีวิเคราะห์แบบพกพาที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งมีการใช้ตรวจวัดสารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่แล้วโดยทั่วไป แต่สำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ผศ.ดร.ชฎิล ได้ใส่วัสดุที่เป็นตัวกรองจำเพาะเข้าไปที่ตัวเครื่องมือเพื่อให้สามารถเลือกตรวจวัดค่าสารสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีเชื้อไวรัสโควิด-19

ชุดตรวจประกอบด้วยขวดแก้วและแท่งสำลี เวลาตรวจก็นำแท่งสำลีไปหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้รับการตรวจ ทิ้งแท่งสำลีไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำแท่งสำลีที่ดูดซับเหงื่อแล้วมาใส่ในขวดแก้ว ฆ่าเชื้อขวดแก้วด้วยรังสี UV ก่อนนำมาตรวจวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้สายดูดตัวอย่างในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ความดันอัดเข้าไปในเครื่องตรวจเพื่อตรวจสอบผล

ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีการนี้คือสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้ แม้ว่าเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ กลิ่นสารเคมีในเหงื่อของผู้ติดเชื้อไวรัสจะแสดงผลแตกต่างจากกลิ่นของผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนวัสดุกรองให้สัมพันธ์กับไวรัส

ผลการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คน พบว่าเมื่อทำการทดลองตรวจกลิ่นเพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 นี้ควบคู่กับการตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) จะพบว่าผลการตรวจสอดคล้องสัมพันธ์กันโดยมีความไว 95% และความจำเพาะถึง 98% อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ชฎิล แนะว่าหากเครื่องตรวจกลิ่นแสดงผลเป็นบวก ผู้รับการตรวจก็ควรไปตรวจแบบ PCR เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนอีกที

ปัจจุบันเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพายังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่ก็ได้ทดลองใช้งานจริงแล้ว โดยทางจุฬาฯ ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานภาครัฐเข้าไปตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในแหล่งชุมชนต่างๆ เป็นตัวช่วยหนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนและคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน และยังทำงานร่วมกับ “รถดมไว” เพื่อช่วยตรวจคัดกรองแทนสุนัขดมกลิ่นในช่วงที่สุนัขพักเหนื่อยได้อีกด้วย

ที่มา https://www.chula.ac.th/highlight/49578/