AWS ประเทศไทย จัดงานเสวนา “Building sustainability startups in the cloud” หนุนสตาร์ทอัพผ่านเทคโนโลยี Cloud ชูความยั่งยืนด้านธุรกิจและสิ่งแวดลอ้ม
คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ AWS ประเทศไทย กล่าวถึงว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศมองเรื่องการลงทุนในด้านความยั่งยืน สำหรับในประเทศ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV หรือองค์กรใหญ่ ๆ อย่าง PPT และ SCG รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้วย ที่มีความตั้งใจในการช่วยลดโลกร้อน
ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศได้มองเรื่องการลงทุนในด้านความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยก็ได้มองหาการลงทุนและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อช่วยให้ไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย และได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ภายในปี ค.ศ. 2035 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ที่ประเทศอังกฤษในปีที่ผ่านมา ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
สตาร์ทอัพเพื่อความยั่งยืนเป็นศูนย์กลางของโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง (Sustainability startups are at the center of a massive social and economic opportunity)
จากผลการศึกษาล่าสุดของ Accenture พบว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่เรียกว่า Twin Transformers จะเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งที่สุด มีโอกาสประสบความสำเร็จและเติบโตได้มากกว่าคู่แข่งได้ถึง 2.5 เท่า
AWS มีประสบการณ์นานกว่า 15 ปี ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนขยายธุรกิจ โดยมีปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่น่าสนใจสำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่มีความยั่งยืน หรือ “Four Key Considerations for Sustainable Startups” เพื่อสร้างการเริ่มต้นที่เน้นความยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จและให้สตาร์ทอัพสามารถนำมาต่อยอดและตอบโจทย์การเป็น Twin Transformers ได้อีกด้วย
- การที่จะสร้างโซลูชันขึ้นมาใหม่สำหรับสตาร์ทอัพนั้น สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร
ไม่มีสตาร์ทอัพใดที่สามารถแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนได้ทั้งหมด สตาร์ทอัพจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อสร้างโซลูชันในรูปแบบ MVP (Minimum Viable Product) ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง และในขณะที่เรากำลังแก้ปัญหานั้น ๆ เราได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ที่ AWS เรามีความเชี่ยวชาญและข้อมูลที่ช่วยให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพในการพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ และมีระบบนิเวศ รวมถึงพาร์ทเนอร์ที่ช่วยให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นก่อนการสร้างโซลูชันจริง
- สตาร์ทอัพตกผลึกและเริ่มสร้างบริการหรือโซลูชันต้นแบบขึ้นมาที่ไหนและอย่างไร
คลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ทอัพ จากการศึกษาของบริษัทวิจัย 451 พบว่าศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร (premises data centers) ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักจะมีอัตราการใช้เซิร์ฟเวอร์เพียง 15% ในขณะที่ศูนย์ข้อมูลที่อยู่บนคลาวด์ขับเคลื่อนโดยโปรเซสเซอร์ที่สามารถบรรลุประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ 50% ด้วยความแตกต่างในการใช้งานนี้ เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่บนคลาวด์จึงสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 67% เมื่อเทียบกับเซิร์ฟเวอร์ในองค์กรทั่วไป ตามรายงานการวิจัยยังพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์ข้อมูลในองค์กร ศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 11% เนื่องจากใช้พลังงานและระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง AWS มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่าศูนย์ข้อมูลภายในองค์กรโดยเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 5 เท่า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 78%
AWS มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด กล่าวคือ ความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง AWS และลูกค้าของเรา
การรับผิดชอบร่วมกัน (A shared sustainability responsibility) คือการที่ AWS มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของความยั่งยืนของระบบคลาวด์ (sustainability of the cloud) หรือศูนย์ข้อมูลของ AWS โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำและของเสีย และในทางกลับกัน ลูกค้ามีหน้าที่รับผิดชอบต่อความยั่งยืนในระบบคลาวด์ (sustainability in the cloud) ซึ่งลูกค้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพรูปแบบการใช้ข้อมูล การออกแบบซอฟต์แวร์ การปรับใช้ และกลไกการปรับขนาดเพื่อความยั่งยืน และมีหน้าที่รับผิดชอบในการคำนึงถึงการใช้งานที่มาพร้อมกับการลดผลกระทบ
- สตาร์ทอัพจะทำให้โซลูชันมีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องอย่างไร
เมื่อก่อนนั้น การพัฒนาโซลูชันจะเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการประมวนผล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และเรื่องของการลดต้นทุน แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาโซลูชันโดยคำนึงถึงความยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อสตาร์ทอัพเติบโตขึ้น ย่อมต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความเป็นกลางของคาร์บอนที่เหลืออยู่อาจมีราคาแพงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ค่าใช้จ่ายนี้สามารถควบคุมได้ด้วย AWS Well-Architected Sustainability ที่ช่วยให้สตาร์ทอัพใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างสถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ AWS มีบริการที่เรียกว่า Well-Architected Review ซึ่งช่วยให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนระบบคลาวด์ โดยทีมงานของ AWS จะช่วยลดจำนวนเงินที่ลูกค้าใช้ไปกับบริการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสตาร์ทอัพใช้จ่ายเฉพาะกับบริการที่จำเป็น ใช้บริการเวอร์ชันล่าสุดและเหมาะสมมากที่สุด
AWS ยังมีเครื่องมือสำหรับลูกค้าที่จะช่วยให้เข้าใจปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของปริมาณงานที่อยู่บน AWS (AWS Customer Carbon Foot Print Tool) และวัดกับการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ผ่าน Well-Architected เพื่อความยั่งยืน และทราบถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการของ AWS เพื่อช่วยลูกค้าในการทำรายงานของตนเอง รวมไปถึงว่าองค์กรมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้มากน้อยแค่ไหน
- ใครอีกบ้างที่สามารถช่วยสตาร์ทอัพให้สามารถไปถึงเป้าหมายได้
ที่ AWS เรามีทั้งชุมชนของคู่ค้าและลูกค้าที่มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จ รวมไปถึง AWS Activate ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเริ่มต้นบน AWS ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย นอกจากนี้ AWS เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Climate Pledge และให้สัตยาบัน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนสตาร์อัพทั่วโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ ที่ช่วยเรื่องความยั่งยืนและลดคาร์บอน ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดตัวของ The Climate Pledge ในปี ค.ศ. 2020 Amazon ได้มีการลงทุนในบริษัทระดับโลกมากมาย
หนึ่งในสตาร์ทอัพที่สร้างบริการอยู่บน AWS และร่วมบรรยายในงานเสวนานี้คือ คุณศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจมูฟมี (MuvMi) ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเดินทางเฉพาะพื้นที่ผ่านระบบ On-Demand Ridesharing Service ทางเดียวกันไปด้วยกัน กล่าวว่า แรงผลักดันของมูฟมีในการสร้างบริการนี้ในปี ค.ศ. 2018 เริ่มจากการที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 อยากแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นจากการเดินทางสาธารณะที่มารองรับการใช้งานขนส่งสาธารณะหลักนั้นไม่เพียงพอ มูฟมีจึงอยากเชื่อมคนกับขนส่งสาธารณะหรือการเดินทางไมล์สุดท้าย (First Miles, Last Miles) โดยสร้างทางเลือกการเดินทางที่ให้ความสะดวกและปลอดภัยเพื่อมาแก้ปัญหาในส่วนนี้ การเดินทางคือการสร้างมลภาวะอย่างหนึ่ง มูฟมีจึงอยากทำระบบหรือโซลูชันที่ไม่เพิ่มมลภาวะ ไม่แก้ปัญหาเก่าด้วยปัญหาใหม่ และต้องไม่สร้างผลกระทบในมิติอื่น จึงได้เลือกใช้รถขนาดกระทัดรัดที่ใช้ไฟฟ้ามาให้บริการเพื่อไม่เพิ่มปัญหารถติดและไม่สร้างมลพิษ ซึ่งตอนที่เราเริ่มสร้างมูฟมี เทรนด์เรื่องรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมมากนักทำให้ต้นทุนสูงมาก พูดได้ว่า EV ราคาเป็น 2 เท่าของรถยนต์ธรรมดา แต่สิ่งที่เราทำคือการแก้ปัญหาในวงกว้าง ทำให้เราต้องคิดให้ถี่ถ้วนและรอบด้านว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และจะเติบโตต่อไปโดยไม่เพิ่มปัญหาได้อย่างไร ซึ่งเราใช้ data-driven ในการผลักดันและทำการตัดสินใจทุกอย่าง การปรับตัวให้เร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของบริการอยู่เสมอ และสามารถสร้างผลกำไรในองค์กร โดยคุณศุภพงษ์ มองว่า พาร์ทเนอร์มากมายที่เข้ามาทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกันนั้น เป็นเพราะเขามองว่าธุรกิจของเราคืออนาคต เราลดคาร์บอนไปกว่า 500 ตันด้วยรถ 200 กว่าคันที่มีอยู่ และการเติบโตของเราเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ส่วนใหญ่ รวมไปถึงภาครัฐและเอกชนเองก็เริ่มเห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมความยั่งยืนนั้นสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อม ๆ กันได้
คุณกฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งเอ็นเรส (ENRES) เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพเพื่อความยั่งยืนที่พัฒนาอยู่บน AWS ใช้เทคโนโลยี AWS IoT Core ในการพัฒนาโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่อาคารและโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งเป้าหมายของ ENRES คือการเอาเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการอาคารและโรงงานที่มีกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมไทย ในช่วงแรก บริการของ ENRES ถูกใช้โดยโรงพยาบาลและโรงแรมเป็นหลัก เนื่องจากอาคารเหล่านี้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการลดการใช้พลังงานจึงมีความสำคัญและมีโอกาสลดได้มาก ระบบปรับอากาศของโรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าได้ 40-70% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และทำให้เกิดของเสียได้มาก นอกจากนี้ อาคารเหล่านี้ใช้ไฟฟ้าถึงประมาณ 60% ของไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ เมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 20%
ENRES ได้พัฒนา BODA (Building Operation Digital Assistance) รูปแบบใหม่ที่มีหน้าที่เป็นศูนย์เตือนภัย (alert center) ที่ช่วยป้องกันปัญหาความเสียหายที่เคยเกิดขึ้น ช่วยทีมงานที่มีจำกัดดูแลอาคารธุรกิจและโรงงานตลอด 24 ชม. ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการได้ถึง 50% ช่วยวิเคราะห์วางแผนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของโรงงาน และช่วยสรุปสถานะของอาคารธุรกิจและโรงงาน ให้ทีมบริหารเข้าใจ ติดตาม และวางแผนทำงานได้ทันที
ENRES เห็นเป้าหมายในการลดพลังงานทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน ที่จะมีความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่ง ENRES มองว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดหวังว่าธุรกิจที่พวกเขาลงทุนนั้นมีแผนที่จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ซึ่ง ENRES มั่นใจว่ามีความต้องการแนวทางด้านความยั่งยืนจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน และวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีของบริษัทไปใช้กับอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 60 แห่งในปีนี้ ซึ่ง ENRES ขยายฐานลูกค้าที่กำลังมองหาวิธีที่จะสนับสนุนความเป็นกลางของคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
คุณวัตสัน กล่าวปิดท้ายว่า “AWS ขอเป็นแรงเสริมและแรงส่งในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นยูนิคอร์น เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม”
###