แหม่… เห็นก้มหน้าก้มตาดูมือถือนี่ ไม่รู้ว่าติดคนในมือถือหรือกลัวตกเทรนด์กันแน่ รู้หรือเปล่าว่ามันมีอาการกลัวตกเทรนด์อยู่บนโลกนี้ด้วยนะ! ในยุคที่มือถือคือปัจจัยที่ 5 และการเข้าโซเชียลมีเดียก็เหมือนเป็นการกินข้าว แถมเป็นพื้นที่ให้คนมาอวดเรื่องราวของตัวเอง ทำให้ใครหลายคนเสพติด กลัวตกเทรนด์ กลัวตามข่าวสารไม่ทัน หรือมีอาการที่เรียกว่า FOMO นั่นเอง

 

FOMO คืออะไร ? 

FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out แปลได้ว่า การกลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างไป หรือพูดง่าย ๆ ว่า กลัวตกเทรนด์ ตกกระแสนั่นเอง คนที่มีอาการ FOMO จะติดมือถือ ติดโซเชียลมีเดีย ต้องติดตามข่าวสารทุกอย่างให้ทัน สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย แต่ช่วงวัยที่พบมากที่สุดคือวัยรุ่น เนื่องจากเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนา และเป็นวัยที่ทำตามเพื่อน ทำให้อาจเกิดอาการ FOMO ได้

ส่งผลเสียอย่างไร ?

จากข้อมูลในเว็บไซ์ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าอาการ FOMO อาจจะก่อให้เกิด โรคหลงตัวเอง ฟังความคิดเห็นคนอื่นน้อยลง รู้สึกผิดหวังยากขึ้น และนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้อาหาร FOMO ยังก่อให้เกิดความวิตกกังวล เห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง หรือแม้แต่นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง ๆ ได้อีกด้วย 

อาการที่เข้าข่าย FOMO 

  • ติดมือถือ ติดโซเชียลมีเดีย ต้องตามทันทุกกระแส
  • ต้องการรู้เรื่องราวของผู้อื่น และเปรียบเทียบกับพวกเขา
  • อารมณ์ไม่คงที่ 
  • มีอาการวิตกกังวลเมื่อไม่รู้ว่าเพื่อนทำอะไรอยู่
  • ชอบแชร์ชอบโพสต์เรื่องราว
  • ติดตามดูยอดไลก์ ยอดแชร์ หากยอดพวกนี้ไม่มากเท่าที่คิดก็จะอารมณ์ไม่ดีหรือกังวล
  • มีความรู้สึกอยากเป็นที่ต้องการ

แก้ไขหรือป้องกันยังไงดี ? 

เราเห็นแล้วว่าอาการ FOMO มีข้อเสียอย่างไรบ้าง ซึ่งเราสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้แต่ต้องมีความร่วมมือของคนรอบข้างและตัวผู้มีอาการเอง 

  • คนรอบข้างสังเกตอาการและคอยถามไถ่ด้วยความเป็นห่วง คอยดึงไม่ให้เขาติดมือถือมากเกินไป 
  • เปลี่ยนโฟกัส สร้างไทม์ไลน์ที่เป็นมิตรกับเรา อาจจะ mute หรือ block สิ่งที่อาจทำให้เรามีอาการ FOMO สิ่งนี้เริ่มที่ตัวเราเองด้วยการพอใจกับตัวเอง 
  • ดิจิทัลดีท็อกซ์ หรือการไม่ใช้อุปกรณ์ดิจิตัลนั่นเอง หากทำไม่ได้อาจจะแค่ลดการใช้งานลง หรือจำกัดการเข้าโซเชียลมีเดียแทน
  • เขียนบันทึก ลองเขียนเรื่องราวดี ๆ ที่เราพบเจอในแต่ละวัน เป็นบันทึกส่วนตัวหรืออาจจะแนบรูปภาพด้วยก็ได้นะ ลองเขียนได้ทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้
  • ออกไปเจอผู้คน หากคุณรู้สึกกังวลหรือโดดเดี่ยวจากอาการ FOMO ลองออกไปพบเจอผู้คนภายนอก ไปเข้าสังคมดู อาจจะช่วยลดอาการโดดเดี่ยวหรือความรู้สึกที่ไม่มีตัวตนได้  

ลองเช็คดูว่าตัวเองมีอาการ FOMO หรือกลัวตกเทรนด์ไหม ข่าวสารทุกวันนี้มันไปไวมาก เราไม่มีทางติดตามข่าว หรือทุกกระแสต่าง ๆ ได้ครบหมดหรอก เราเลือกติดตามเฉพาะสิ่งที่เราสนใจและไม่สร้างความลำบากให้เราก็พอ หากรู้ตัวว่าตัวเองหรือคนรู้จักอาการ FOMO ก็ยังมีแนวทางแก้ไขให้ แต่ถ้าแค่ติดคนในมือถือนี่ ก็ไม่รู้จะต้องทำยังไงเหมือนกันนะ  

 

 

ที่มา : https://www.verywellmind.com/how-to-cope-with-fomo-4174664  

FOMO (Fear of Missing Out) : ก็ฉันกลัวตกกระแส! • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th) 

What Is… FOMO (Fear of Missing Out) – Mental Health @ Home (mentalhealthathome.org)