หนึ่งในปัญหาที่เราต้องเปลี่ยนมือถือหรือแท็บเล็ตบ่อยขึ้น เพราะอะไหล่ของรุ่นเก่าไม่ผลิตแล้วทำให้ซ่อมกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ผลที่ตามมาคือขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ทางสหภาพยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ บังคับให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนต้องผลิตอะไหล่อย่างน้อย 15 ชิ้นส่วนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับตั้งแต่วันที่วางขาย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อชิ้นส่วนอย่าง หน้าจอ แบตเตอรี่ ไปซ่อมมือถือตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ทั้งๆที่เครื่องเก่ายังใช้งานได้ดีอยู่

ที่มา Apple

นอกจากนั้นทางกรรมธิการยุโรปยังจับตาเรื่องของความทนทานของแบตเตอรี่ ที่ต้องมีรอบการชาร์จอย่างน้อย  500 รอบ ก่อนที่ความจุจะลดลงเหลือ 83% ซึ่งกฎใหม่นี้จะบังคับให้ผู้ผลิตต้องติดฉลากบอกข้อมูลเรื่องความทนทานของแบตเตอรี่ รวมถึงคุณสมบัติกันน้ำกันฝุ่นให้ชัดเจน

ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต แถมการที่เพิ่มอายุการใช้งานเป็น 5 ปีก็จะเท่ากับลดมลพิษจากการผลิตได้เทียบเท่ากับไอเสียที่ปล่อยจากรถยนต์ถึง 5 ล้านคัน

ในขณะที่ Apple, Google และ Samsung เองก็เริ่มเปิดตัวโครงการที่เปิดให้ผู้ใช้สั่งอะไหล่ไปซ่อมมือถือด้วยตัวเองได้ แต่ทางฝั่งผู้ผลิตบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เพราะนั่นจะไปเพิ่มส่วนของขยะพลาสติกที่ใช้ใส่อะไหล่เหล่านี้แทน รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตและจัดเก็บ ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าเพราะเอาไปใช้ผลิตชิ้นส่วนเก่าที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ฝั่งฮาร์ดแวร์เท่านั้น การขยายเวลาใช้งานเป็น 5 ปียังส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ด้วย เพราะต้องเอัปเดตให้รองรับการทำงาน รวมถึงความปลอดภัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนแค่ 3 ปีเท่านั้น ส่วนกฎหมายนี้จะถูกผลักดันออกมามีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ก็คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆเลยค่ะ

ที่มา https://www.engadget.com/eu-rules-phone-tablet-reparability-battery-life-software-updates-163636788.html