อย่างที่รู้กันว่า Fake news หรือข่าวปลอมนั้นเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศเจอเหมือนกันหมด ซึ่งหนึ่งในช่องทางเผยแพร่ข่าวปลอมก็คือ Social Media ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากนั้นเอง
ทาง Facebook เองก็พยายามเพิ่มเครื่องมือต่างๆในการรับมือกับเรื่องนี้ ล่าสุดมีการเปิดตัวโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอกให้สามารถใช้งานได้ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างให้แพลตฟอร์มแห่งนี้มีความโปร่งใส รวมถึงลดการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ภายใต้ความร่วมมือกับ AFP ที่ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ
โพสต์ต่างๆปรากฎบนหน้าฟีดเราได้อย่างไร?
การที่โพสต์อะไรก็ที่ปรากฎบนหน้าฟีดเรานั้นจะมีการใช้ปัจจัยต่างๆมาช่วยคำนวณและคาดเดาว่าผู้ใช้แต่ละคนมีความชื่นชอบเรื่องอะไร เช่น ดูว่าใครเป็นคนโพสต์ ใครเป็นคนกดแชร์มา ซึ่งโพสต์จากครอบครัวและเพื่อนจะขึ้นมาก่อน รวมถึงเนื้อหาที่เรากดเข้าไปดู เช่น ข่าว ซึ่งทาง Facebook เองก็มีมาตรการในการรับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ด้วยการลบเนื้อหาที่ทำผิดนโยบายมาตรฐานชุมชน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีการใช้ทั้ง AI มาช่วยคัดกรองเนื้อหาเบื้องต้นจากนั้นก็จะส่งต่อให้ทีมงานที่เป็นคนคัดกรองเนื้อหาอีกครั้งนึง จากนั้นค่อยลงมือกับเนื้อหานั้นต่อไปเพื่อลดจำนวนการแสดงผลข่าวปลอมให้น้อยลง
ทาง Facebook เองให้ความสำคัญเป็นอย่างมามีการเพิ่มทีมงานถึง 30,000 คนทั่วโลกมาช่วยดูแล รวมถึงอัพเกรดความสามารถของ AI เพื่อช่วยตรวจสอบเนื้อหาในภาษาไทยได้ดีขึ้น
ถ้าหากเราสงสัยว่าโพสต์นั้นมาแสดงบนหน้าฟีดเราได้อย่างไรนั้น เค้าก็มีฟีเจอร์ให้เรากดดูเหตุผลได้ด้วย เช่น เป็นโพสต์ที่แชร์จากเพื่อน โฆษณาหรือเป็นเนื้อหาประเภทเดียวกับที่เรากดอ่านประจำ เพื่อความโปร่งใสในการใช้งาน
ต่อต้านข่าวปลอม
แน่นอนว่าตอนนี้หลายคนใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการอ่านข่าวหรือติดตามสถานการณ์ต่างๆ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือคนมักจะเชื่อสิ่งที่อ่านมากกว่าจะตั้งคำถามว่าข่าวที่อ่านเป็นเรื่องจริงรึเปล่า ทำให้การเผยแพร่ข่าวที่ผิดๆเป็นไปด้วยความรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง
เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ทาง Facebook ได้จับมือกับ AFP ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบน Facebook ซึ่งรวมถึงรูปภาพ, วิดีโอและลิงค์ต่างๆจากผู้ตรวจสอบภายนอกว่าเป็นข่าวจริงรึเปล่า แต่จะตรวจสอบเฉพาะบัญชีหรือเพจที่เปิดเป็นสาธารณะเท่านั้น
ถ้าตรวจพบแล้วว่าเป็นข่าวปลอมก็จะลดการแสดงผลในหน้าฟีดให้น้อยลง ช่วยให้คนทั่วไปมีโอกาสเห็นข่าวนั้นน้อยลง ในกรณที่เราจะกดแชร์ข่าวปลอนั้นก็จะมีการแจ้งเตือนให้รู้ว่าข่าวที่แชร์เป็นข่าวปลอมเพื่อให้เราตรวจสอบข้อมูลก่อนกดแชร์ออกไป
ส่วนเพจหรือเว็บไซต์ที่มีการแชร์ข่าวปลอมเป็นประจำนั้นจะถูกดำเนินการโดย Facebook เช่น ลดการการแพร่เนื้อหาให้น้อยลง ไม่สามารใช้ฟีเจอร์การโฆษณาหรือสร้างรายได้ ในกรณีที่เป็นข่าวที่ถูกต้อง ด้านล่างของข่าวจะมีบทความที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข่าวอื่นๆที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เรากดอ่านเพิ่มเติมได้
ส่วนผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราๆก็ต้องรอบคอบและคิดสักนิดก่อนจะแชร์ข้อมูลอะไรออกไป เพื่อไม่ให้เราเป็นคนสร้างมลพิษบนโลกออนไลน์ค่ะ