เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ Digital Transformation เป็นที่พูดถึงอย่างมาก แต่หลายบริษัเองก็ยังปรับตัวไม่ทัน ล่าสุดทาง ซิสโก้ออกมาเผยเทรนด์เทคโนโลยีปี 2563 ว่าจะเป็นอย่างไร จะได้รับมือได้ถูก
ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นใช้งานสมาร์ทโฟนจนเป็นที่แพร่หลายทั่วโลก จนหลายๆประเทศเร่มเข้าสู่การเป็น Mobile First
เทคโนโลยีอย่าง AI มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แทรกซึมเข้าสู่องค์กรธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม จยไปถึงการใช้งานภายในบ้าน รวมถึงการใช้คลาวด์ แอป และโซเชียลมีเดียที่พบเห็นได้ทั่วไป เคยคิดกันมั้ยว่าแล้วแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าล่ะจะเป็นอย่างไร?
ทางซิสโก้มองไปข้างหน้าอย่าง ‘ยาวไกล’ โดยข้อมูลคาดการณ์ของในหลายๆ เรื่องจากเมื่อปีที่แล้ว เช่น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเชื่อมต่อผ่านมือถือ การพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในด้านการใช้งาน AI/ML และการพัฒนาไปสู่สถาปัตยกรรมมัลติโดเมน จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า
แล้วมีเทรนด์อะไรบ้างที่ควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับปีนี้? ประเด็นที่ทางซิสโก้คาดการณ์สำหรับปี 2563 และอนาคตข้างหน้ามีดังต่อไปนี้
1.เราจำเป็นต้องสร้างอินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต
ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 ยังคงมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล ( Digital Transformation) ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ในปัจจุบันถึงจุดแตกหัก และเราใกล้จะถึงขีดจำกัดของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่เราจะต้องพัฒนา “เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต” (Internet for the Future)
ภายในปี 2566 จะมีอุปกรณ์ราว 49,000 ล้านเครื่องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และในทศวรรษหน้า จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตั้งแต่ Virtual Reality และ Augmented Reality ไปจนถึงสตรีมมิ่ง 16K, AI, 5G, 10G, ควอนตัมคอมพิวติ้ง, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่น, ยานพาหนะไร้คนขับ และ IOT อัจฉริยะ นอกจากนี้ยังอาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง
แอปพลิเคชั่นรุ่นใหม่เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความต้องการและความซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าที่โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่จะสามารถรองรับได้ ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่นี้ เราจำเป็นปรับเปลี่ยนแนวคิดและสร้างโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตขึ้นใหม่ โดยโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้จะต้องเร็วกว่าเดิม ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งยังบริหารจัดการและรักษาความปลอดภัยได้อย่างง่ายดาย
เมื่อไม่นานมานี้ ซิสโก้ได้ประกาศแผนสำหรับการสร้างอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับนวัตกรรมดิจิทัลในทศวรรษหน้า โดยองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์อินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต หรือ ‘Internet for the Future’ อยู่ที่การลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนของซิลิคอน ออปติก และซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับแผนการในอนาคต
2. ความภักดีต่อแอปพลิเคชั่น เทียบเท่าความภักดีต่อแบรนด์
เมื่อพูดถึงธุรกิจในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงมากที่คุณจะนึกถึงช่องทางดิจิทัลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปหรือเว็บไซต์ รวมไปถึงความสะดวกง่ายดาย และความพึงพอใจที่คุณได้รับผ่านช่องทางดังกล่าว
ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน App Attention Index ของ AppDynamics ระบุว่า การใช้บริการดิจิทัลได้กลายเป็นพฤติกรรมของมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยพฤติกรรมที่ว่านี้เรียกว่า ‘Digital Reflex’ ในอดีตผู้บริโภคมักต้องไตร่ตรองและตัดสินใจที่จะใช้บริการดิจิทัลเพื่อทำงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (71%) ยอมรับว่าบริการดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว
ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ถ้าหากแอปของแบรนด์หนึ่งๆ ให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีพอ ผู้ใช้จะหันหลังให้กับแบรนด์นั้นในทันที ในกรณีที่เกิดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ผู้บริโภคจะหันไปหาแบรนด์คู่แข่ง (49%) หรือเตือนคนอื่นๆไม่ให้ใช้บริการนั้น หรือแบรนด์นั้นๆ (63%) โดยไม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเจ้าของแบรนด์ได้แก้ตัวหรือปรับปรุงการให้บริการ
ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องใส่ใจต่อผู้บริโภคที่ไม่มีความอดทนที่มีมากขึ้น นอกเหนือไปจากประสบการณ์ดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและดีเยี่ยม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแอปพลิเคชั่นในแบบเรียลไทม์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้สามารถระบุปัญหาที่แท้จริงและดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
3.การป้องกันภัยคุกคามด้วย Threat Hunting และ Zero Trust
ทุกวันนี้ อาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกมากกว่าภัยธรรมชาติถึง 3 เท่า ดังนั้นองค์กรจึงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นสำหรับระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ระบบรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นแบบตอบสนอง (Reactive) ซึ่งโดยมากแล้วจะดำเนินการแก้ไขเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและส่งผลกระทบต่อระบบ โดยระบบรักษาความปลอดภัยที่ว่านี้ไม่เพียงพออีกต่อไป องค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ “Zero Trust” เพื่อก้าวให้ทันกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ
แนวคิด Zero Trust แบบดั้งเดิม ซึ่งกำหนดโดย Forrester อ้างอิงหลักการที่ว่าองค์กรต่างๆ ไม่ควรไว้วางใจอะไรเลยก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกเครือข่าย และจะให้สิทธิ์การใช้งานแก่ผู้ใช้ อุปกรณ์ และเวิร์กโหลดที่ผ่านการตรวจสอบ เฉพาะหลังจากที่มีการยืนยันความน่าเชื่อถือและมีการป้องกันภัยคุกคามเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น โดยทั้งหมดนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ แนวทางดังกล่าวอาจได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอีกในไม่ช้า
นอกจากนั้น การค้นหาภัยคุกคามใหม่ๆ หรือ Threat Hunting จะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับแนวทางการรักษาความปลอดภัยอย่างรอบด้านขององค์กรต่างๆ ขณะที่แนวทางแบบเก่าตอบสนองต่อการแจ้งเตือนหลังจากที่ตรวจพบกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย แต่ Threat Hunting เป็นการตรวจหาและวิเคราะห์ภัยคุกคามใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
เป้าหมายของ Threat Hunting คือการค้นหามัลแวร์และช่องโหว่ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก แม้กระทั่งในกรณีที่ไม่มีการตรวจพบมัลแวร์ Threat Hunting ก็ยังสามารถระบุช่องโหว่ที่จำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายใหม่ ด้วยเหตุนี้ การค้นหาภัยคุกคามอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดจำนวนช่องทางการโจมตีโดยรวม
ผู้เชี่ยวชาญที่ Cisco Talos ได้จัดทำหนังสืออี-บุ๊คที่มีชื่อว่า Hunting for Hidden Threats ซึ่งระบุถึงประโยชน์ของการทำ Threat Hunting รวมถึงองค์กรที่ควรจะเข้าร่วม และมีสิ่งใดบ้างที่ควรจะค้นหา ที่ไหน และเมื่อไร นอกจากนั้น ยังเปรียบเทียบแนวทางนี้กับแนวทางการรักษาความปลอดภัยแบบอื่นๆ เช่น การตอบสนองต่อเหตุการณ์ การทดสอบการแทรกซึม หรือการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น
4.แนวโน้มเกี่ยวกับระบบเครือข่าย: การพัฒนาของระบบเครือข่ายตามความต้องการของผู้ใช้
เครือข่ายมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและให้คุณประโยชน์ที่หลากหลายนอกเหนือจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์และสถานที่ตั้ง โดยทุกวันนี้เครือข่ายมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ การปกป้องข้อมูล การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับทีมงานต่างๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แวดวงอุตสาหกรรมหันมาให้ความสนใจกับบทบาทของเครือข่ายที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software-defined Network – SDN) ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นถัดไปของเครือข่าย โดย SDN ให้ประโยชน์มากมาย เช่น การรวมศูนย์การจัดการและการรักษาความปลอดภัย ความยืดหยุ่น และการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ซิสโก้ไม่ได้มองว่า SDN คือผลิตผลขั้นสุดท้าย หากแต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายเพื่อมุ่งไปสู่ระบบเครือข่ายตามความต้องการของผู้ใช้ (Intent-Based Networking – IBN) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ AI และ Machine Learning เพื่อคาดการณ์การดำเนินการ ตรวจหาและแก้ไขความผิดปกติโดยอัตโนมัติ หยุดยั้งภัยคุกคามด้านความปลอดภัย รวมถึงมีการพัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
SDN ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยรายงาน Cisco Global Networking Trends ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายไอทีและผู้กำหนดกลยุทธ์เครือข่ายกว่า 2,000 คน พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์มี SDN ในโดเมนเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งโดเมน และมีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อว่าเครือข่ายของตนเองเป็นแบบ Intent-Based อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเห็นพ้องต้องกันว่าเครือข่าย IBN จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้ โดย 78 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าเครือข่ายของตนจะพัฒนาไปสู่เครือข่ายตามความต้องการของผู้ใช้ (intent-based) และเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้วยบริการ (service-driven) ภายในสองปีข้างหน้า และ 35 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าเครือข่ายของตนจะเป็นแบบ Intent-Based อย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน
5.บุคลากรไอทีขาดทักษะด้านธุรกิจจนส่งผลกระทบรุนแรง
บุคลากรยังคงเป็นปัญหาท้าทายอันดับ 1 ที่ผู้บริหารไอทีต้องรับมือในปัจจุบัน ซิสโก้ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารส่วนงานไอทีและธุรกิจ 600 คน และพบว่า 93% ประสบปัญหาช่องว่างด้านบุคลากรอย่างรุนแรงจนทำให้การปรับปรุงธุรกิจเกิดความล่าช้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือ ลักษณะของตำแหน่งหน้าที่ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่น วิทยาศาสตร์ข้อมูล และ AI ยังคงมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน ฝ่ายไอทีจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “ผู้รับคำสั่ง” ไปสู่การเป็นพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในแต่ละวันของพนักงานฝ่ายไอทีจากการตั้งค่าอุปกรณ์ไปสู่ “การแก้ไขปัญหาธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี”
จากแบบสำรวจของซิสโก้ พบว่าผู้บริหารส่วนงานไอทีและธุรกิจเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีต้องเผชิญก็คือ การขาดความรู้และไหวพริบทางด้านธุรกิจ และด้วยเหตุนี้ ภารกิจสำคัญสำหรับผู้บริหารส่วนงานไอทีและธุรกิจก็คือ การสรรหาพนักงานที่มีทักษะทั้งทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ
ความต้องการที่ว่านี้จะได้รับการตอบสนองอย่างไรในอนาคต? จากการสำรวจพบว่า บริษัทที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนธุรกิจมักจะจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านธุรกิจให้แก่พนักงานฝ่ายไอที แทนที่จะว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติมหรือเอาต์ซอร์สงานให้บริษัทอื่น ทั้งนี้เพื่อรักษาองค์ความรู้ วัฒนธรรม และค่านิยมขององค์กรเอาไว้