เมื่อวานนี้ช่วงเย็นๆใครที่เข้า Google Maps อาจจะเห็นหน้าตาเปลี่ยนไปไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะเค้าปรับโฉมใหม่ในโอกาสที่เปิดให้บริการมาครบ 15 ปี พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อนเมื่อปี 2005 ทาง Google ได้เปิดตัวบริการใหม่ชื่อว่า Google Maps บริการแผนที่บนออนไลน์เพื่อมาทดแทนแผนที่กระดาษ ซึ่งฟีเจอร์เด็ดๆตอนนั้นก็คือค้นหาเส้นทางแล้วสามารถสั่งพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษได้เลย นั่นเริ่มทำให้หลายคนเริ่มหันมาช้แผนที่ออนไลน์มากขึ้น
ระหว่างทางนั้น Google ได้พยายพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆใส่เข้าไปเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อช่วยให้การเดินทางไปยังเป้าหมายง่ายและสะดวกขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เวลาเราจะหาเส้นทางเราจะต้องเปิด Google Maps มาเป็นแอปแรก
Google Maps โฉมใหม่
ปีนี้ถือว่า Google Maps เดินทางมาครบ 15ปีแล้ว ก็เลยมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ทั้งในเรื่องของโลโก้และดีไซน์ที่โดดเด่นยิ่งขึ้น ในส่วนของการใช้งานนั้นเราจะเห็นหน้าตาที่เปลี่ยนไปพร้อมเพิ่มแท็ปใหม่ด้านล่างเพื่อให้ใช้งานสะดวกขึ้น ไม่ใช่แค่การนำทางอย่างเดียวแต่ยังครอบคลุมด้านอื่นๆอีก ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแต่โลกและผู้เองก็เปลี่ยนตาม เราจะเห็นว่าคนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น มีรูปแบบการเดินทางใหม่ๆเกิดขึ้น แผนที่เองก็ต้องอัปเกรดตามให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิต
Explore (สำรวจ)
จากเทรนด์การค้นหาของ Google พบว่าเวลาที่คนเข้ามาหาจุดหมายในแผนที่นั้นจะใส่ข้อความที่ระบุ เฉพาะเจาะจงขึ้น ในแท็บนี้จะช่วยให้เราค้นหาสถานที่ที่น่าสนใจที่อยู่รอบๆบริเวณนั้นได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สถานที่ที่น่าสนใจ พร้อมกับข้อมูลและรีวิวจากคนในพื้นที่ผ่าน ชุมชนผู้ใช้งาน Local Guide มากกว่า 200 แห่งทั่วโลก ใครที่อยากหาสถานที่เด็ดๆหรือที่แบบ Unseen ต้องกดมาที่แท็บนี้เลยค่ะ
Commute (การเดินทาง)
แท็บนี้สำหรับเอาไว้ใช้ในการเดินทาง ค้นหาเส้นทางไม่ว่าจะเดินทางรูปแบบไหน รถส่วนตัว มอเตอร์ไซค์หรือรถสาธารณะ แท็บนี้จะช่วยเลือกเส้นทางที่เดินทางเร็วที่สุดให้ รวมถึงกำหนดเส้นทางที่เราใช้เดินทางเป็นประจำทุกวันได้เพื่อรับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์เพื่อประเมินระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงแนะนำเส้นทางอื่นๆ
Saved (บันทึก)
โหมดนี้จะเอาไว้เซฟสถานที่ต่างๆเอาไว้กันลืม เผื่ออยากไปประจำเซฟไว้ก่อนจะได้ไม่ต้องกลับไปพิมพ์หาใหม่ หรือมีที่ที่ไปประจำอยู่แล้วก็เซฟไว้เวลาหาเส้นทางก็เข้าที่นี่ได้เลย แถมเรายังแชร์หมุดที่เราเซฟไว้ให้กับเพื่อนก็ได้ด้วย
Contribute (การมีส่วนร่วมของคุณ)
ข้อมูลบางส่วนบน Google Maps จะเปิดให้เราสามารถใส่ข้อมูลอัปเดตเข้าไปได้ซึ่งในแต่ละปีนั้นมีคนมาช่วยใส่ข้อมูลเป็นจำนวนมากทำให้แผนที่มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น ในแท็บนี้เราจะได้เห็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆที่อาจจะไม่อยู่ในแผนที่หลักของ Google Maps พร้อมการแสดงความคิดเห็นและรูปภาพประกอบทำให้เราเจอสถานที่ใหม่ๆได้มากขึ้น
Update (อัปเดต)
แท็บนี้จะแสดงข้อมูลสถานที่ใหม่ๆที่กำลังเป็นที่นิยม รวมถึงที่ที่ห้ามพลาดที่มีการแนะนำมาจากสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
ฟีเจอร์ใหม่ Google Maps
Live View
โหมดการนำทางด้วย AR ซึ่งโหมดนี้เป็นโหมดทดสอบ เปิดให้บริการมาระยะนึงแล้วซึ่งในไทยก็สามารถใช้งานได้ด้วยโดยจะใช้งานได้เฉพาะโหมดการนำทางด้วยการเดินเท้าเท่านั้น
โหมดนี้จะใช้กล้องบวกกับเทคโนโลยี AR โชว์ลูกศรนำทางซ้อนทับลงไปบนโลกแห่งความจริง บอกทางว่าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไหนทำให้เราไม่หลงทางเวลาไปสถานที่ใหม่ๆที่ไม่เคยไปมาก่อน ปีนี้โหมด Live View จะเพิ่มความสามารถในการบอกระยะห่างว่าปลายทางที่เราไปนั้นอยู่อีกไกลแค่ไหน
Transit Attribute
โหมดนี้เอาใจคนเดินทางให้ตัดสินใจรูปแบบการเดินทางได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราสามารถกำหนดคุณสมบัติของการเดินทางเพิ่มเข้าไปได้ อย่างตอนนี้ถ้าใครใช้ Google Maps อยู่จะเห็นว่าเราไปตั้งค่าเลือกว่าจะเลี่ยงไม่ขึ้นทางด่วนได้ ฟีเจอร์นี้จะคล้ายๆกัน เช่น เลือกความหนาแน่นของรถสาธารณะ มีตัวเลือกสำหรับผู้พิการมั้ย จำนวนตู้โดยสาร หรือบางประเทศอย่างญี่ปุ่นและตะวันออกกลางมีตู้รถไฟสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เราสามารถใส่ข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมจากเส้นทางเข้าไปได้เพื่อให้เราตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางที่เหมาะกับเราที่สุด ฟีเจอร์นี้จะเริ่มเปิดให้ใช้งานในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไปโดยจะเริ่มที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน
ไม่ต้องตกใจนะถ้าใครเปิด Google Maps มาแล้วยังไม่มีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามา เพราะเค้าจะค่อยๆทะยอยปล่อยให้ใช้งานกันค่ะ ถ้ายังไม่มีให้ใช้ก็อดใจรอกันอีกนิดนึงนะ
ความท้าทายของประเทศไทย
แน่นอนว่าการใช้งานแผนที่ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป ความท้าทายของประเทศไทยก็คือ การรายงานสภาพการจราจรแบบ Real-time ที่ผู้ใช้คนไทยบางคนอาจจะเจอการบอกข้อมูลที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากที่แอปบอก อย่างต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่ม 9 นาทีแต่เอาเข้าจริงใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก็มี หรือบางทีการแนะนำเส้นทางที่เร็วที่สุดแต่หลงก็มี
ต้องบอกว่าทาง Google Maps นั้นใช้ข้อมูลสองส่วนร่วมกันคือ ข้อมูลปัจจุบันจากมือถือต่างๆที่เปิดใช้งาน Google Maps และเครื่องที่เปิดการแชร์พิกัดอยู่ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะบอกได้ว่าเส้นไหนถนนโล่ง เส้นไหนรถติดนั่นเอง ส่วนข้อมูลอีกส่วนคือ Big Data ที่เก็บข้อมูลการใช้งานมาต่อเนื่อง รู้ว่าถ้าไปจุดนี้จะต้องใช้เส้นทางไหนบ้าง เส้นทางไหนคนใช้ประจำ ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ข้อมูลเวลาเฉลี่ยในการเคลียร์รถออกจากผิวจราจรเมื่อเกิดเหตุรถชน เป็นต้น จากนั้นตัวระบบจะทำการประเมินเส้นทางและเวลาออกมาจากสถิติที่ผ่านมาทั้หงมด
แต่ต้องบอกว่าการจราจรเมืองไทยนั้นต่างจากเมืองนอก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดสัญญาณไฟจราจรที่ใช้เวลาไม่เท่ากัน การเพิ่ม/ลดเลนถนนในบางเส้นทางที่รถติดเพื่อให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรเป็นลูกโซ่ นี่คือโจทย์ที่ทาง Google ต้องเก็บไปทำการบ้านว่าจะทำให้การรายงานข้อมูลได้แม่นยำขึ้นยังไง