เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าโรงพยาบาลถือเป็นหน่วยงานที่มีเรื่องข้อมูล และระบบการจัดการที่ซับซ้อนมากมาย ต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมากในแง่ของการเดินเอกสาร หรือ ทำข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านมาเราน่าจะเคยได้เห็นกันบ้างแล้วว่าเริ่มมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น เพื่ออะไรนะหรอ ? ก็เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ และผู้เข้ารับบริการด้านต่างๆ รวมถึงความคล่องตัวในการทำงานของเจ้าหน้าที่ นั้นแหละค่ะ 

ก่อนหน้านี้เราเคยเล่าถึงเรื่องราวของโรงพยาบาลรามคำแหงที่ได้นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สำหรับสื่อสารภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ความคล่องตัวในการทำงานระหว่างกันของแพทย์และบุคลากร รวมไปถึงโรงพยาบาลสมุทรปราการ ที่ได้มีการดึงเทคโนโลยีหลายๆ ด้านเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลอย่างเรื่อง AI ChatBot ซึ่งเป็นลักษณะของพยาบาล AI ที่ช่วยคัดกรองข้อมูลคนไข้ก่อนพบแพทย์ และอีกหลายๆ โรงพยาบาล เป็นต้น

โรงพยาบาลกรุงเทพ

วันนี้เราขอเล่าถึงโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ BDMS ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีโรงพยาบาลในเครืออยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ดังนั้นเรื่องของการจัดการด้านข้อมูลและด้านอื่นๆ ทางโรงพยาบาลกรุงเทพเองก็ได้หยิบยกเอานวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้และจัดการ 

Digital Disruption วงการแพทย์ไทย

Credit : Pixabay

จากการพูดคุยกับ นพ. นิวัติ อินทรวิเชียร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้กล่าวถึง Digital Disruption วงการแพทย์ไทย ว่า ทางโรงพยาบาลมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อดูแลรักษาคนไข้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ทางด้านการแพทย์ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคนไข้ 

“ความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตเราไม่มีเทคโนโลยีเลยไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงอยู่กับที่ แต่วันนี้มีโอกาสก้าวหน้าขึ้น หากมี 5G ที่ความเร็วมากๆ จะช่วยให้สิ่งที่ไม่เคยทำได้ในสมัยก่อนหรือทำได้แต่ติดๆ ขัดๆ มันเป็นโอกาสที่โรงพยาบาลจะก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง”

BDMS รับมือโรคระบาดผ่านหุ่นยนต์

โรงพยาบาลกรุงเทพมีการรับมือการโรคพยาบาลในการคัดกรองคนไข้ที่มีความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อกับบุคลากรภายในโรงพยาบาล มีห้องคัดแยกผู้ป่วยอย่างชัดเจน อีกทั้งมี “หุ่นยนต์ส่งของ” ที่ลงทุนพัฒนาโดยทีมนวัตกรรมของ BDMS ปัจจุบันมีมากถึง 10 ตัว เพื่อทำการ ส่งยา ส่งอาหาร เข้าไปให้ผู้ป่วยในห้อง โดยพยาบาลจะเฝ้าหน้าห้องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ

อีกทั้งเมื่อหุ่นยนต์เข้าไปส่งอาหารหรือยาเรียบร้อยแล้วพยาบาลหรือแพทย์สามารถ “วีดีโอคอล” พูดคุยกับคนไข้ ตรวจเช็คอาการและความต้องการของคนไข้ได้ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะถูกทำความสะอาดทุกจุดทั้งในลิ้นชักและรอบตัวที่คนไข้อาจสัมผัส ในทุกครั้งหลังออกจากห้องเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการลดความเสี่ยงรับเชื้อ

Telemedicine เป็นสิ่งที่ BDMS พยายามจะมี

สำหรับเรื่อง Telemedicine นพ. นิวัติ เล่าว่า เป็นนโยบายที่ทางโรงพยาบาลพยายามจะมี ในเรื่องการ Teleconsultation ของแพทย์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแอดวานซ์เทคโนโลยี หรือ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านเรื่อง หัวใจ มะเร็ง ระบบสมอง ซึ่งพยายามที่จะถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ไปยังโรงพยาบาลในเครือ แต่สิ่งที่โรงพยาบาลทำบ่อยๆ และได้ผลดี คือ การทำ Teleconference กับโรงพยาบาลในเครือที่ต่างประเทศ 

อย่าง รอยัลพนมเปญ ในกัมพูชา ที่มีคนไข้ต้องการการดูและรักษาเป็นพิเศษ แต่แพทย์ผู้เชียวชาญแต่ละสาขามีจำนวนไม่เพียงพอ โดยการทำ Teleconsultation ที่ทำทุกวันทุกเวลาโดยคนไข้จะได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลกรุงเทพที่สำนักงานใหญ่ และผลการรักษาออกมาดีมาก คนไข้สามารถพ้นวิกฤตได้

Credit : FB Bangkok Hospital โรงพยาบาลกรุงเทพ

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปผ่าตัดช่วยในการดูแลคนไข้ที่ต่างประเทศหรือตามต่างจังหวัดที่มีความจำเป็นต้องใช้หรือต้องการ โดยระบบจะเป็นระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ 360 องศา เช่น หากมีคนไข้ที่ประสบปัญหาการผ่าตัดที่จังหวัดอุดรธานี เราทำการ Teleconsultation กันว่ามีปัญหาอย่างไร  ขาดเหลือ ต้องการอุปกรณ์ หรือแพทย์ผู้เชียวชาญ โดยสามารถส่งทีมแพทย์ไปได้เพราะนอกจากไปทางสายการบินพาณิชย์แล้ว ยังมีเฮลิคอปเตอร์เป็นของตัวเองพร้อมที่จะบินส่ง ทั้งด้านอุปกรณ์การแพทย์ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต่างๆ 

ว่าด้วยเรื่องของ PDPA สิทธิ์การใช้ข้อมูลทางการรักษา 

Credit : Pixabay

PDPA ( Personal Data Protection Act ) หรือเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นับว่าเป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และโรงพยาบาลกรุงเทพเองก็มีโรงพยาบาลในเครือจำนวนมากทั่วประเทศอีกทั้งในต่างประเทศด้วย  นพ. นิวัติ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า BDMS มีนโยบายตั้งแต่กฏหมายออกมาว่าเมื่อจะมีกฏหมายเรื่องนี้ มีฝ่ายกฏหมายดูแลในรายละเอียดทั้งหมดว่าในกฏหมายมีการว่าไว้อย่างไร แล้วหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่เป็นผู้ดูแลข้อมูลต่างๆ ของคนไข้ รวมทั้งสิทธิในการที่จะเข้าไปดูแลหรือใช้ข้อมูลนั้น ต้องดูว่าข้อมูลไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้ อันไหนเป็นการละเมิดสิทธ์  รวมถึงเรื่องการอนุญาตเข้าถึงข้อมูลของคนไข้เองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือการนำข้อมูลไปจะต้องใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาคนไข้ได้แต่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการอนุญาตของคนไข้ในการเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ด้วย

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โรงพยาบาลถือเป็นหน่วยงานที่ต้องปรับตัวไวมากกว่าคนอื่น เนื่องด้วยมีฐานข้อมูลเป็นจำนวนมาก มีการทำงานหลายฝ่าย เพื่อการเชื่อมโยงกันถึงข้อมูลต่างๆ ดังนั้น Digital Disruption หรือ การปฏิรูป เปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในวงการแพทย์ นับว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ได้ในวงกว้างที่ไม่ใช่เพียงแค่คนไข้ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกในแง่ของการทำงานแก่บุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อีกด้วย