ไทยกำลังจะมีพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิย. นี้แล้ว หลายคนเข้าใจว่ากฎหมายนี้ ห้ามไม่ให้เราถ่ายติดหน้าคนอื่น ยกเว้นบอกเค้าก่อน…แต่ใครละคะ จะไปประกาศดังๆ ตอนถ่ายรูป ไม่งั้นถ่ายรูปโดยไม่ติดใครเลย เป็นไปได้ยังไง

พ.ร.บ. PDPA ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ปกป้องข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ให้นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ สิ่งที่ทำให้คนตื่นตัวเนื่องจากบทลงโทษค่อนข้างสูง คือแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

  • โทษอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โทษแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายตามจริง
  • ทษปกครอง: ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท

จริงๆแล้วพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ไม่ได้ห้ามใช้ ห้ามบันทึกข้อมูลของคนอื่น แต่หัวใจสำคัญคือ เอาไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส

  • จำเป็น – ขอไปใช้ทำอะไร ใช้แค่นั้น ไม่ใช้นอกวัตถุประสงค์ที่ขอไป
  • ปลอดภัย – นำข้อมูลไปใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของข้อมูล
  • โปร่งใส – เจ้าของข้อมูลรับรู้ ยินยอมและตรวจสอบได้

จะเห็นได้ว่าการจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น จะมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน เราต้องดูก่อนว่าใครเป็นคนนำไปใช้ และเอาไปใช้ทำอะไรได้ประโยชน์หรือไม่ ใช้แล้วเกิดผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลอย่างไร

ลองมาดูประเด็นที่คนมักจะเข้าใจผิดกันบ้าง

1.ถ่ายติดคนอื่น โดยเจ้าตัวไม่ยินยอมผิด PDPA มั้ย?

ในกรณีที่เราไปถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปวิดีโอแล้วติดคนอื่นมาโดยไม่เจตนานั้น หากใช้เพื่อใช้วัตุประสงค์ส่วนตัวและไม่เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย เช่น เก็บไว้ดูเอง ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย PDPA ค่ะ หากตั้งใจถ่ายบุคคลอื่นก็ต้องดูว่าเข้าข่ายละเมิดหรือเปล่า

มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น

2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ถ้าเราแชร์ภาพแชร์คลิปลง Facebook ส่วนตัว ให้เพื่อนให้ครอบครัวดู อันนี้ก็ยังเข้าข่าย มาตรา 4(1) หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลอื่น แต่ถ้าเราโพสต์แล้วทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้ได้รับความอับอายใส่ความว่าร้ายหรือหมิ่นประมาท อันนี้จะถือว่ามีความผิดฐานละเมิดค่ะ ผู้เสียหายอาจจะแจ้งความเอาผิดได้ทั้งแพ่งและอาญา
แต่ในกรณีที่เรานำภาพหรือคลิปวิดีโอนั้นไปแสวงหาประโยชน์ เช่น รีวิวสินค้า ใช้ในการโฆษณา สร้างรายได้ ส่วนคนที่เป็นตากล้อง จนไปถึงคนทำคอนเทนท์บน YouTube ที่มีรายได้จากภาพถ่ายหรือวิดีโอ อันนี้ทางพรบ. PDPA จะมีผลทันที ต้องมีการขอความยินยอมจากเจ้าของภาพก่อนนำไปใช้ หากไม่ทำอันนี้ผิดกฎหมาย PDPA เต็มๆเลยค่ะ

3.กล้องวงจรปิด/กล้องหน้ารถ

กล้องวงจรปิดจะคล้ายๆกันค่ะ ถ้าหากเราติดในบริเวณบ้านของตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ดูว่าใครเข้าใครออกเพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งภาพเหล่านี้ไม่มีการเผยแพร่ที่ไหน แต่จะถูกใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายในตอนที่เกิดเหตุร้ายขึ้นมา เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

แต่ถ้าเป็นบริษัท ห้างร้าน หรือหมู่บ้าน อันนี้ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน แต่เพื่อรักษาความปลอดภัยของคนหมู่มาก อันนี้อาจจะต้องมีการติดป้ายบอกและชี้แจงว่ามีกล้องวงจรปิดกำลังทำงานอยู่

ส่วนกล้องหน้ารถจะคล้ายๆกับกล้องวงจรปิดค่ะ คือใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น คือ ตอนนำมาเผยแพร่นี่แหละค่ะ หากใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายอันนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่หากเผยแพร่แล้วกระทบสิทธิคนอื่น อันนี้ก็ต้องมาพิจารณาเป็นรายคดีไป

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ตามกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอมทุกครั้งไป  หากการใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าข่ายดังนี้
(1) เป็นการทำตามสัญญา เช่น ตากล้องหรือฟรีแลนซ์ถ่ายรูป ถ้าทำสัญญาให้เผยแพร่ได้ก็สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมก่อน หากไม่มีการทำสัญญาไว้ ตากล้องจำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าของภาพก่อนนำไปใช้งาน
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ เช่น การถ่ายภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ/ตำรวจที่พยายามหาหลักฐานในการสืบสวน อันนี้กฎหมายให้อำนาจไว้จึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย PDPA แต่การเอาไปใช้งานนั้นทำได้ตามข้อกำหนดและขอบเขตของกฎหมาย แน่นอนว่าคนที่ถือครองข้อมูลจะต้องระวังไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลตาม PDPA
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การนำเสนอข่าว ซึ่งจะมีจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่หากข่าวนั้นส่งผลกระทบต่อบุคคลในข่าว ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องได้ ส่วนที่เกี่ยวข้องจริงๆกับ PDPA คือการกำกับดูแลภาพและวิดีโอที่ถ่ายทำมาให้ปลอดภัย
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง เช่น ใช้ภาพหรือวิดีโอเป็นหลักฐานตามกฎหมาย

จะเห็นว่าตัวกฎหมายนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ รวมถึงทางผู้เกี่ยวข้องเองนั้นจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไปหากทำผิดจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องติดคุกเสมอไป เพราะมีบทลงโทษอื่นๆด้วย รวมไปถึงกรณีอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล