ปัญหาของมือเทียมไฮเทคขยับได้เหมือนจริงนั้นมีราคาค่อนข้างสูงทำให้ผู้พิการหลายคนไม่สามารถซื้อหามาใช้งานได้ ทาง MIT จึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเซียงไฮ้เจียงตงพัฒนามือเทียมแบบเป่าลม น้ำหนักเบา ใส่ทำกิจกรรมต่างๆได้ในราคาเพียง 16,000 บาทเท่านั้น

แม้แขนเทียมยังเป็นตัวต้นแบบอยู่แต่ก็ทำงานได้เหมือนแขนกลทั่วไป  มือเทียมนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ มีความอ่อนนุ่นและน้ำหนักเบา สามารถสวมใส่ทำกิจวัตรประจำวันได้ ตั้งแต่รินน้ำจากเหยือก, รูดซิปกระเป๋าเดินทาง, อุ้มและลูบน้องแมว ได้เหมือนกับแขนเทียมทั่วไป  แถมยังมีความทนทานสูงเนื่องจากใช้วัสดุที่อ่อนนุ่ม แม้โดนหนีบหรือโดนทับ เมื่อหลุดออกมาก็ตะคืนสถาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 500  ดอลลาร์หรือประมาณ 16,000 บาทเท่านั้นเพื่อให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถซื้อหามาใช้งานได้ จะได้สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ ลดการพึ่งพาคนอื่น

วัสดุหลักที่เขาเลือกใช้ก็คือ Elastomer EcoFlex ที่มีความยืดหยุ่นสูง ตรงส่วนของอุ้งมือนั้นจะประกอบไปด้วยนิ้ว 5 นิ้วที่มีลักษณะคล้ายกับลูกโป่งเป่าลมเข้าไป แต่ละนิ้วจะฝังเส้นใยไฟเบอร์ ทำหน้าที่เลียนแบบกระดูกและข้อต่อของนิ้วมือ ส่วนตรงฝ่ามือนั้นจะพิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ

ส่วนการควบคุมนั้นเขาไม่ได้ใช้มอเตอร์ แต่จะใช้วิธีที่เรียกว่า  neuroprosthetics ควบคุมอากาศที่อยู่ในนิ้วผ่านปั๊มและวาวล์ขนาดเล็กให้นิ้วขยายหรืองอตามต้องการ โดยตัวควบคุมนั้นจะอยู่ที่เอวเพื่อช่วยให้มือเทียมไม่หนักจนเกินไป

นอกจากนั้นทีมวิจัยยังพัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ในการศึกษาตำแหน่งของนิ้วในการทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ EMG เพื่อให้สามารถสั่งการมือเทียมด้วยความคิดได้ ด้วยการแปรสัญญาณไฟฟ้าจากสมองเป็นคำสั่งที่ต้องการโดยเอา AI มาช่วย

ต่อมาคือเรื่องของการเพิ่มความรู้สึกให้เหมือนมือจริง ด้วยการเพิ่มเซ็นเซอร์ที่ทุกปลายนิ้ว เอาไว้รับกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อไปยังเส้นประสาททำให้รู้สึกได้ถึงการสัมผัส

การใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแค่ผู้ใส่จะต้องมาฝึกผ่านคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 15 นาที หลังจากนั้นจะใช้งานคำสั่งพื้นฐานได้อย่างการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ตอนนี้ทางทีมงานได้ทำการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว รวมถึงปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นทั้งการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก รวมถึงปรับตัวปั๊มลมให้มีขนาดเล็กลงและปรับดีไซน์ให้เหมาะสมกับการผลิตจำนวนมากๆได้ หากทำสำเร็จเมื่อไหร่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตของผู้พิการหลายคนน่าจะดีขึ้นมากเลยค่ะ

ที่มา MIT