ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราจะเห็นข่าวความก้าวหน้าในการพัฒนาหุ่นยนต์บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งความสามารถของหุ่นยนต์ในปัจจุบันนั้นจะน่าทึ่งขนาดไหนลองชมได้จากคลิปนี้
ในคลิปจะเป็นหุ่นยนต์ 3 รุ่นของ Boston Dynamic ที่ออกมาเต้นประกอบเพลงโดยสามารถเคลื่อนที่โยกย้ายตามจังหวะเพลงได้อย่างพลิ้วไหวชนิดที่นักเต้นเห็นแล้วคงมีเขินกันบ้าง
และเมื่อเดือนก่อน อีลอน มัสก์ ก็ได้ออกมาเปิดตัว Tesla Bot หุ่นยนต์รูปทรงมนุษย์ที่มาพร้อมปัญญาประดิษฐ์ในตัวเพื่อที่จะให้เป็นหุ่นยนต์เอนกประสงค์ที่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลาย ไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจมีแม่บ้านเป็นหุ่นยนต์เหมือนอย่างในภาพยนตร์ก็เป็นได้
เป็นเวลานานหลายทศวรรษที่ได้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพื่อช่วยงานมนุษย์และที่มีการนำมาใช้กันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต อย่างเช่น การผลิตรถยนต์
ทั้งนี้หุ่นยนต์นั้นมีข้อได้เปรียบกว่ามนุษย์หลายด้านทั้งกำลังที่มากกว่า ทำงานที่ละเอียดและแม่นยำได้โดยปราศจากข้อผลิตพลาด สามารถทำงานได้แบบไม่มีเหนื่อยล้าหรือออกมาเรียกร้องสวัสดิการเพิ่มเติม และที่สำคัญหุ่นยนต์นั้นยังสามารถทำงานที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ได้ด้วย
แค่ไหนคือหุ่นยนต์??
ปัจจุบันเราเริ่มเห็นรถรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถรับคำสั่งด้วยเสียง หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มี AI ในตัว และล่าสุด Amazon ก็เพิ่งเปิดตัว Astro หุ่นยนต์เฝ้าบ้านด้วยหน้าตาที่เหมือนกับเครื่องดูดฝุ่นติดล้อมีหน้าจอเพื่อแสดงสีหน้าของเจ้า Astro จึงทำให้มันดูเหมือนสุนัขเฝ้าบ้านเสียมากกว่า
เช่นนั้นแล้วหุ่นยนต์จึงไม่จำกัดว่าต้องมีรูปร่างเหมือนคน เพราะนิยามของหุ่นยนต์นั้นคือเครื่องจักรกลอัตโนมัติทุกชนิดที่ออกแบบให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานบางประเภท โดยทำงานด้วยคำสั่งเดิมซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นได้ดี
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นอาจจะแค่ทำงานได้แค่ตามที่ถูกโปรแกรมไว้ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้หุ่นยนต์กำลังจะมาพร้อมกับ AI ซึ่งทำให้พวกมันสามารถรับรู้และตอบสนองต่อมนุษย์เราได้หลากหลายขึ้น ไม่เป็นเพียงเครื่องจักรกลที่ทำได้แค่งานเฉพาะอย่างซ้ำ ๆ อีกต่อไป
โควิดกับการใช้งานหุ่นยนต์ในวงกว้าง
การระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ได้เปิดโอกาสให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างมากขึ้นเพราะหุ่นยนต์นั้นไม่กลัวติดโควิด ซึ่งที่มีนำมาใช้งานก็ทั้งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่คอยช่วยคุณหมอและพยาบาล หุ่นยนต์ส่งสินค้าที่จะช่วยลดการสัมผัสระหว่างผู้คน หรือแม้แต่หุ่นยนต์และโดรนตรวจการเพื่อการ Lock Down
ซึ่งก็ได้ทำให้ผู้คนนั้นเริ่มเจอกับหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันมากขึ้นและคงจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตและจะเป็นเหตุให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์นั้นเติบโตมากขึ้น ดังนั้นเหล่า Startup ใหม่ ๆ ที่พัฒนาหุ่นยนต์มาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อาจจะกลายเป็นยูนิคอร์นเลยก็เป็นได้
อนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกันกับหุ่นยนต์?
การนำหุ่นยนต์มาทำงานรับใช้ผู้คนนั้นเป็นความฝันที่มีมาอย่างยาวนานดังที่เราจะเห็นผ่านโลกอนาคตในจินตนาการของภาพยนตร์ไซไฟ ที่มีหุ่นยนต์มากมายหลายแบบคอยทำงานต่าง ๆ แทนมนุษย์ ผู้คนในสังคมอุดมคติแห่งโลกอนาคตนั้นแทบไม่ต้องทำงานอะไร ช่างเป็นโลกที่ชวนฝันเสียจริง
แต่ในความเป็นจริงการมาของหุ่นยนต์อย่างเช่นที่เริ่มมาทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้นกลับไม่ได้ทำให้โลกเราสวยหรูเหมือนอย่างในภาพยนต์ เพราะการที่หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานในโรงงานนั้นแน่นอนว่าย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของกิจการและคนที่ได้ประโยชน์ก็คือเจ้าของกับผู้ถือหุ้นจำนวนหยิบมือ แต่มันกลับส่งผลต่ออัตราการจ้างงานที่หายไปและนั่นหมายถึงมีคนที่ต้องว่างงานลงมากขึ้น แล้วคนเหล่านี้จะอยู่อย่างไร? ยังคงเป็นคำถามที่คงต้องหาทางจัดการกันในอนาคต ซึ่ง Collaborative Robot หรือ Cobot หุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์แทนที่จะทำงานแทนทั้งหมดอาจจะเป็นคำตอบ
และหุ่นยนต์ก็จะเริ่มปรากฏตัวมาอยู่ข้างเราให้เห็นบ่อยขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ท้องถนน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีการนำหุ่นยนต์มาเดินโปรโมทสินค้าและแจ้งโปรโมชั่นให้กับลูกค้าอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตกันแล้ว
การเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
ข้อมูลล่าสุดจาก International Federation of Robotics (IFR) ได้ชี้ให้เห็นเทรนด์ของหุ่นยนต์ในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างน่าสนใจโดยทิศทางการขายและการติดตั้งหุ่นยนต์ตั้งแต่ช่วงปี 2010 พบว่ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2012 และ 2019 ที่มีการลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยแต่คาดว่าในปี 2020 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีอื่น ๆ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยเทรนด์ล่าสุดในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์นั้นให้ความสำคัญกับการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ ด้วยจุดเด่นในการทำงานที่ต่อเนื่องและแม่นยำของหุ่นยนต์ผสมผสานรวมกับความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทำให้ความคุ้มค่าในการใช้งานนั้นมีมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมภายใต้บริบทของสถานการณ์ยุคปัจจุบันที่การผลิตเน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล (Customization) มากขึ้น และในบางอุตสาหกรรมชิ้นส่วนหรือสินค้าที่ผลิตไม่ได้เป็นการผลิตจำนวนมากอีกต่อไป
สำหรับประเทศไทยเองนั้นเทรนด์และแนวโน้มด้านหุ่นยนต์ก็มีผลการสำรวจออกมาสอดคล้องกับรายงานของ IFR อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในภาคส่วนของโลจิสติกส์ การลงทุน หรือภาคส่วนที่นิยมใช้งานหุ่นยนต์แต่ก็ยังมีความไม่สม่ำเสมอในการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีตลาดที่สามารถรองรับการขยายตัวของการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้อีก
และเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทิศทางของหุ่นยนต์บนโลกถือว่าอยู่ในสถานภาพที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากกลุ่มงานที่มีความซ้ำซากจำเจ สกปรก อันตราย หรือมีความเปราะบางสูงนั้นก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เพื่อยกระดับสุขอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน
นอกจากนี้ด้วยสภาวะสังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลายปีให้หลัง การเข้ามาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังเป็นการช่วยสภาพสังคมผู้สูงอายุให้ยังมีแรงงานในการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ด้วยการปลดภาระทางกายภาพในการทำงานผ่านศักยภาพของเทคโนโลยี
แล้วจะแน่ใจได้แค่ไหนว่าหุ่นยนต์นั้นจะไม่เป็นภัยกับมนุษยชาติ?
ในอนาคตเราคงหนีไม่พ้นที่ต้องอยู่ร่วมกันหุ่นยนต์ คำถามใหญ่ที่หลายคนคงมีอยู่ในใจก็คือ “แล้วเราจะแน่ใจได้แค่ไหนว่าหุ่นยนต์จะไม่เป็นภัยกับมนุษยชาติ” เราจะไม่ถูกหุ่นยนต์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนในภาพยนตร์ “คนเหล็ก” หรือถูกจับไปทำเป็นถ่านไฟฉายเหมือนอย่างในภาพยนตร์ “เมทริกซ์”
นอกจากจินตนาการของโลกอนาคตอันสวยงามมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับหุ่นยนต์โดยมีหุ่นยนต์คอยทำงานให้กับผู้คน แต่อีกหลายจินตนาการของโลกอนาคตกลับกลายเป็นว่าหุ่นยนต์ได้กลายเป็นปรปักษ์กับมนุษย์และจ้องทำลายมนุษยชาติให้สูญสิ้น
คำตอบนี้คงไม่มีใครในวันนี้จะให้คำตอบได้ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีของหุ่นยนต์พัฒนาจนเริ่มสร้างความกังวลให้ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์เป็น “เครื่องจักรสงคราม” ที่สร้างมาเพื่อมุ่งหมายชีวิตมนุษย์ และด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ปัจจุบันก้าวล้ำจนเหนือกว่ามนุษย์ไปแล้วในด้านความฉลาดเมื่อนำมารวมกัน แล้วหุ่นยนต์เหล่านั้นเกิดมีความคิดที่จะเป็นปรปักษ์กับมนุษย์แล้วนั้นก็หมายถึงการกลายเป็นเครื่องจักรสังหารที่น่าพรั่นพรึง
เราอาจต้องมีการพิจารณาใช้กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ที่ตั้งขึ้นโดย ไอแซค อสิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังเพื่อใช้กับหุ่นยนต์ที่ปรากฎอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ของเขา กฎเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับหุ่นยนต์ในชีวิตจริงแต่อย่างใด ซึ่งกฎ 3 ข้อนี้มีอยู่ว่า
- หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้
- หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก
- หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง
ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงกฎในนวนิยายของ อสิมอฟ ก็ไม่รู้ว่าจะมีการนำมาใช้จริงหรือไม่ หรือถึงแม้มีการนำมาใช้แล้วกฎเหล่านี้จะช่วยปกป้องมนุษย์จากภัยของเครื่องจักรสังหารได้หรือไม่ ก็ยังไม่มีใครรู้
****************************************************************************************
โลกกำลังหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและหุ่นยนต์กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียนรู้ เข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่ออยู่กับอนาคตคือสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวเสียแต่วันนี้
**************************************************************************************
อ้างอิง
https://interestingengineering.com/could-autonomous-robots-be-more-dangerous-than-nukes
https://www.mmthailand.com/robotics-2020-2021/