เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เมื่อแพทย์ประสบความสำเร็จในการใช้หุ่นยต์อัตโนมัติ ผ่าตัดแบบส่องกล้องกับหมูทดลองได้อย่างปลอดภัย
ทาง John Hopkins University ได้นำหุ่นยนต์ Smart Tissue Autonomous Robot (STAR) มาทดสอบผ่าตัดจริงกับสัตว์ทดลอง ผลพบว่าให้ประสิทธิภาพได้ดีกว่ามนุษย์ ถือเป็นความก้าวหน้าในวงการแพทย์ ปูทางไปสู่หุ่นยนต์ผ่าตัดอัตโนมัติที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
การผ่าตัดส่องกล้องนั้นมีข้อดีหลายอย่าง คือ เปิดบาดแผลเล็กทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็ว แต่เดิมทีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นจำเป็นต้องให้แพทย์ควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัด ผ่านการกล้องกล้องกำลังขยายสูง ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีทักษะและประสบการณ์สูงเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่ให้ไปโดนอวัยวะอื่นๆ ซึ่งทางทีมวิจัยได้เลือกใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดมาทดสอบต่อลำไส้ด้วยการเย็บชั้นเดียว (intestinal anastomosis)
เนื้อเยื่อในร่างกายนั้นมีความบอบบาง ซึ่งหุ่นยนต์นั้นยากที่จะรับรู้ได้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไรไม่เหมือนกับคน เพื่อแก้ปัญหานี้ทีมวิจัยจึงได้ติดตั้งเครื่องมือใหม่และระบบถ่ายภาพใหม่ล่าสุดเพื่อให้หุ่นยนต์เห็นภาพเนื้อเยื่อต่างๆได้อย่างแม่นยำ
ระบบจะประกอบด้วย กล้องสามมิติและ machine learning–based tracking algorithm เป็นตัวคอยแนะนำหุ่นยนต์เพื่อทำให้ผ่าตัดได้อย่างฉลาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น ทำให้ STAR เป็นระบบหุ่นยนต์ที่สามารถวางแผน ปรับเปลี่ยนและลงมือผ่าตัดเนื้อเยื่อที่บอบบางได้โดยที่เกิดผลกระทบน้อยที่สุดซึ่งพิสูจน์จากการผ่าตัดส่องกล้องสัตว์ทดลอง 4 ตัวอย่างปลอดภัย