Facebook จับมือกับเบน แอนด์ คอมพานี เผยผลศึกษาใหม่ผลพบว่าเทรนด์ Discovery Generation มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่แน่ใจว่าจะซื้ออะไรออนไลน์ ตัดสินใจซื้อจากการค้นหาไปเรื่อยๆ พร้อมเปิดกว้างให้กับแบรนด์ใหม่ๆแต่ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำ

ปัจจุบัน E-commerce เรียกว่าเติบโตเป็นอย่างมากด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ค่าบริการที่ถูกลง ส่งผลให้ทางแบรนด์สินค้าต่างๆหันมาทำการตลาดบนออนไลน์เยอะขึ้น

ทาง Facebook จึงได้จับมือกับเบน แอนด์ คอมพานีทำการศึกษาในหัวข้อ “Riding The Digital Wave: Southeast Asis’s  Discovery Generation” เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ ซึ่งผลที่ได้จะช่วยพัฒนาและกำหนดแนวทางของอีคอมเมิร์ซในอนาคต รวมถึงช่วยให้แบรนด์ต่างวางกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเหมาะสม

การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 12,965 คน จากประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ , ไทยและเวียดนาม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุนอีก 30 คนในภูมิภาคอาเชียน ส่วนในไทยนั้นมีคนร่วมสำรวจความคิดเห็นจำนวน 1,954 คน

Discovery Generation ชาวดิจิทัลกลุ่มใหม่

เมื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นก็จะทำให้เกิดผู้ใช้งานกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจก็คือ Discovery Generation ซึ่งพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้คือ เป็นคนที่เปิดกว้าง ยอมรับเรื่องใหม่ๆได้ง่าย เวลามาซื้อของออนไลน์นั้นจะไม่มีการวางแผนล่วงหน้าไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะซื้ออะไรจากแพลตฟอร์มออนไลน์ มักจะใช้วิธีค้นหาของไปเรื่อยๆ พอเจอของที่ถูกใจถึงจะตัดสินใจซื้อ

จากข้อมูลปี 2561 พบว่าผู้บริโภคชาวดิจิทัลกลุ่มนี้มีประมาณ 250 ล้านคน แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 310 ล้านคนในปี 2568 มีการประเมินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีของคนกลุ่มนี้ในปี 2568 นั้นจะอยู่ที่ 390 ดอลลาร์ ถือว่าโตขึ้น 3.2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2561

แน่นอนว่าเครื่องมือหลักที่ Discovery Generation ใช้ก็คือ สื่อสังคมออนไลน์ในการค้นพบสินค้าและบริการใหม่ๆ ผลสำรวจของพฤติกรรมที่น่าสนใจคนไทย พบว่า

  • 71% นั้นไม่แน่ใจว่าต้องการจะซื้ออะไรเวลาที่ดูสินค้าออนไลน์
  • 76% บอกว่ารู้จักแบรนด์ใหม่ๆจากช่องทางออนไลน์
  • 58% เคยซื้อของออนไลน์จากร้านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในปีที่ผ่านมา
  • 90% มีการเปรียบเทียบสินค้าจากทั้งออนไลน์และออฟไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ

ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก็คือ ยอดรีวิวสินค้าเชิงบวกจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ ราคา/โปรโมชั่นที่ดึงดูด และความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์เอง แต่เนื่องจากในไทยนั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นเจ้าตลาด ไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกาที่มี Amazon เป็นผู้เล่นรายใหญ่ ที่คนซื้อนึกถึงเป็นอันดับแรก

ส่วนในไทยนั้นไม่ว่าจะเป็น LAZADA, Shoppe หรือ JD Central นั้นเรียกว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาด ไม่ต่างกันมาก ซึ่งอันดับหนึ่งและสองในไทยนั้นต่างกันแต่ 10% เท่านั้น จึงทำให้ความจงรักภักดีกับแพลตฟอร์มต่ำ สามารถเปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่นได้ตลอดเวลา โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจะหาข้อมูลจาก 3.2 ช่องทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ

จากผลสำรวจพบว่า ลูกค้าที่มีความภักดีสูงจะช่วยโปรโมทแบรนด์ของเรา แนะนำให้คนอื่นๆใช้ต่อ มีการจับจ่ายสูงกว่าลูกค้าทั่วไปสิ่งสำคัญที่แบรนด์จะต้องทำอันดับแรกก็คือ การสร้างตัวตนบนออนไลน์ให้เป็นที่จดจำ เวลาที่ลูกค้าหาสินค้าจะต้องเจอแบรนด์ของเรา กระจายไปยังทุกๆแพลตฟอร์มที่เป้าหมายใช้งาน จากนั้นคือ การทำยังไงให้ลูกค้าอยู่กับแบรนด์ของเรา เช่น ซื้อบ่อยอาจจะได้สิทธิพิเศษเหนือกว่าลูกค้าทั่วไป ให้บริการจัดส่งฟรี เป็นต้น

โอกาสของ E-commerce

ทั้งหมดนี้คือความท้ายทายของการตลาดออนไลน์ แบรนดต์ต่างๆเองก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค รู้จักประยุกต์ใช้ช่องทางต่างของอีคอมเมิร์ซ เลือกใช้ช่องทางที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาวางกลยุทธ์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่ดีเพื่อสร้างความจงรักภักดีให้เกิดกลับมาซื้อซ้ำและบอกต่อ แนะนำให้คนอื่นๆมาใช้บริการ