MIT คิดค้นหน้ากากอนามัยตรวจโควิด อยากตรวจเมื่อไหร่เปิดสวิตช์รู้ผลใน 90 นาที เตรียมต่อยอดติดเซ็นเซอร์ในเสื้อผ้าของแพทย์เพื่อช่วยตรวจจับความเสี่ยง

วิศวกรจาก MIT และ Harvard University ร่วมกันออกแบบหน้ากากอนามัยที่สามารถวินิจฉัยว่าผู้ใส่ติดโควิดหรือเปล่าในเวลาแค่ 90 นาที โดยที่ตัวหน้ากากนั้นจะมีการฝังเซ็นเซอร์ขนาดเล็กแบบใช้แล้วทิ้ง แถมยังตรวจจับไวรัสชนิดอื่นๆได้ด้วย

เซ็นเซอร์นี้มีพื้นฐานมาจากเครื่อง freeze-dried cellular ที่ทางทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้วินิจฉัยเชื้ออีโบลาและซิกา ในการศึกษาครั้งนี้เขาโชว์ให้เห็นว่าเซ็นเซอร์นี้สามารถนำไปฝังในเสื้อผ้าชนิดอื่นๆได้อีกเพื่อช่วยในการติดตามสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่สวมใส่ชุดอยู่ว่ามีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคและสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งเขาตั้งเป้าพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มไบโอเซ็นเซอร์สำหรับอุปกรณ์สวมใส่

เซ็นเซอร์นั้นจะซ่อนอยู่ด้านในเพื่อคอยตรวจับอนุภาคจากลมหายใจ แต่เซ็นเซอร์นั้นจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใส่เปิดการทำงาน จากนั้นจะใช้เวลา 90 นาทีในการวินิจฉัย โดยผลลัพธ์จะแสดงให้เห็นด้านในของหน้ากากเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ สิ่งสำคัญของเซ็นเซอร์คือโปรตีนและกรดนิวคลีอิกที่นำมาสร้างเป็รยีนสังเคราะห์ที่จะทำปฎิกิริยากับโมเลกุลของไวรัส ซึ่งก่อนหน้านี้เขาใช้วิธีนี้ในการตรวจจับเชื้ออีโบลาและซิกา ต่อมาได้มีการพัฒนาต่อยอดเป็นระบบ SHERLOCK ที่ตรวจจับได้แม่นยำขึ้น

หากเราติดเซ็นเซอร์ที่ด้านนอกของหน้ากากก็จะสามารถตรวจจับสภาพแวดล้อมได้ด้วย รวมถึงตัวเซ็นเซอร์ที่ใช้นั้นสามารถเลือกเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้ เช่น เราอาจจะเปลี่ยนเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับเชื้อโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โควิดได้ด้วย

ตอนนี้ทางนักวิจัยได้ทำการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว พร้อมมองหาบริษัทพันธมิตรมาช่วยผลิตเซ็นเซอร์ในจำนวนมาก โดยหน้ากาตรวจจับเชื้อโควิดน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ออกมาขายในเชิงพาณิชย์ก่อน จากนั้นจะมีการขยายตลาดไปยังผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นๆ

ที่มา  MIT