นอร์เวย์ เริ่มใช้เรือขนส่งสินค้าไร้คนขับ ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดใหญ่แทนการใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก โดยจะเริ่มเดินทางจากเมือง Herøya ไปยัง Brevik มีศูนย์ควบคุมระยะไกล 3 แห่งดูแลตลอดการเดินทาง คาดอนาคตใช้แทนรถบรรทุก!
จริงๆแล้วแนวคิดการเดินเรือไร้คนขับนี้เริ่มใช้จริงไปแล้วกับเรือข้ามฟากของฟินแลนด์ในปี 2018 แต่ก็แค่ระยะใกล้ๆเท่านั้น โดยใช้เซนเซอร์และกล้องช่วยเดินเรือไปตามทิศต่างๆได้เอง ทั้งยังสามารถตรวจจับและหลีกเลี่ยงอุปสรรคได้เองอัตโนมัติ โดย ออสการ์ เลวานเดอร์ รองประธาน อินโนเวชัน โรลส์รอยซ์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือนี้ ระบุว่า อุบัติเหตุทางเรือส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ และหลายครั้งมีสาเหตุจาก เรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ความเหนื่อยล้า หรือลูกเรือไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ และสามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องจักร ซึ่งควบคุมได้ผ่าการเชื่อมต่อทางดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ตไม่ว่าเรือจะอยู่ที่ใดในโลก
ภาพเรือข้ามฟากไร้คนขับที่ฟินแลนด์
หลังจากนั้น Yara International ได้ต่อยอดแนวคิดนี้กับเรือขนส่งสินค้าระยะไกล มีแผนจะเริ่มใช้จริงในปี 2020 แต่การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้การเดินทางล่าช้า และล่าสุดคาดว่าจะใช้เรือขนส่งสินค้าแบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเต็มรูปแบบลำแรกในนอร์เวย์ภายในสิ้นปี 2564
ความสามารถเรือขนส่งไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเดินเรือมีสัดส่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 2.5% ถึง 3% ตามรายงานขององค์การการเดินเรือระหว่างประเทศ แต่เรือจาก Yara International ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก และสเปกของเรือไร้คนขับลำนี้ขับเคลื่อน 900kQ สองระบบ ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 13 นอต ด้วยระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ 7MWh ยืนยันว่าปลอดภัยแน่นอน บรรทุกได้ตู้คอนเทนเนอร์ได้สูงสุด 103 ตู้ โดยบริษัทคาดการณ์ว่าเรือลำนี้จะแทนที่การขนส่งจากรถบรรทุกได้ประมาณ 40,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 และไนตรัสออกไซด์ได้อย่างมาก นอกจากนั้นยังสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนบกได้ ไม่ต้องพูดถึงการป้องกันมนุษย์จากอันตราย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่าเรือต่างๆก็อาจจะมีกฏเกณฑ์และกฏหมายทรี่อาจจะยุ่งยาก และน่านน้ำแต่ละประเทศก็มีกฏที่แตกต่างกัน ดังนั้นอาจจะต้องปรับตัวและลองใช้กันดู โดยช่วงแรกอาจจะยังให้คนควบคุมอยูา และไม่แน่อาจจะเป็น new normal ของการขนส่งทางน้ำเลยก็ว่าได้
ที่มา: CNN