ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถติดต่อกันผ่านการหายใจ ด้วยขนาดละอองของตัวไวรัสที่เล็กจิ๋วอย่างยิ่งยวดทำให้สามารถฟุ้งกระจายลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน

ที่ว่าเล็กนั้นเล็กขนาดไหน?? ลองดูรูปเปรียบเทียบระหว่าง เส้นผมกับฝุ่น PM10 และฝุ่น PM2.5 จะเห็นได้ว่าฝุ่น PM2.5 นั้นเล็กจิ๋วมากแต่ที่ว่าเล็กจิ๋วแล้วเจ้าไวรัสโควิด-19 นี้ยังเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นสิบ ๆ เท่าเลยทีเดียว (0.1 ไมครอน หรือ 1 ในหมื่นมิลลิเมตร)

เมื่อมีผู้ติดเชื้ออยู่ในอาคารหรือพื้นที่ปิดที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเทเป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้เกิดการสะสมตัวของอนุภาคของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟุ้งกระจายเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ลอยอวลอยู่ในสถานที่นั้น เปรียบเสมือนฝุ่นที่ฟุ้งกระจายคละคลุ้งอยู่ในห้อง

ซึ่งก็ได้มีงานวิจัยเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ถ้าผู้ป่วยไม่ใส่หน้ากากและคนที่ยังไม่ติดเชื้อใส่หน้ากากอนามัยเดินสวนกันในที่เปิดโล่งหรืออยู่ในสถานที่ทั่วๆไปที่ไวรัสโควิดแพร่กระจายในอากาศไม่มากนัก การใส่หน้ากากอนามัยนั้นช่วยในการป้องกันไวรัสได้ดีทีเดียว

แต่ในสถานที่ที่ไวรัสกระจายอยู่มากกว่าปกติ เช่น ในสถานพยาบาลแบบปิดที่มีผู้ป่วยอยู่มาก การใช้หน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่ จำเป็นต้องมีมาตรการและอุปกรณ์อื่นๆป้องกันร่วมด้วยจึงจะได้ผล จึงทำให้ระบบการระบายอากาศที่ดีนับว่ามีความสำคัญมากในการช่วยลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ในอาคารที่เป็นพื้นที่ปิดและมีระบบปรับอากาศที่มีการหมุนวนอากาศเพื่อลดภาระการทำความเย็น อย่างอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สนามบิน และโดยเฉพาะโรงพยาบาล จึงอาจเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดโรคได้ ระบบปรับอากาศจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาพิจารณาในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การปรับปรุงระบบปรับอากาศในอาคารเพื่อช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

เมื่อเรารู้ว่าการที่อากาศหมุนวนอบอวลอยู่ในอาคารนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดมันก็มีอยู่หลายแนวทางในการจัดการ

1. เพิ่มการระบายอากาศ และการเคลื่อนไหวของอากาศในอาคาร

หลักการง่าย ๆ นี้ก็เพื่อลดความเข้มข้นของเชื้อไวรัสที่ฟุ้งกระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ไม่ยาก หากเป็นอาคารขนาดเล็กหรือห้องที่มีประตูหน้าต่างเยอะและไม่มีระบบปรับอากาศ เราสามารถเพิ่มอัตราการระบายอากาศได้ไม่ยากด้วยการเปิดประตูหน้าต่าง ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับอัตราการระบายอากาศ

แต่ในอาคารขนาดใหญ่ที่มีระบบปรับอากาศโดยเฉพาะระบบปรับอากาศรวมเป็นการยากที่จะเพิ่มอัตราการนำอากาศจากข้างนอกเข้ามาเพื่อลดความเข้มข้นของเชื้อไวรัสที่ฟุ้งกระจายอยู่ในพื้นที่ เพราะการนำอากาศใหม่ข้างนอกอาคารมาผสมมันคือ การเพิ่มภาระอย่างหนักหน่วงให้กับเครื่องปรับอากาศ

ทั้งนี้การทำความเย็นนั้นภาระใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การลดอุณหภูมิของอากาศแต่เป็นการดึงความชื้นออกจากอากาศ (เป็นที่มาว่าทำไมถึงมีน้ำกลั่นตัวไหลลงท่อ Drain แอร์อยู่ตลอดเวลาที่เราเปิดแอร์) ซึ่งถ้านำอากาศใหม่ที่ร้อนชื้นจากข้างนอกเข้ามาผสม เครื่องปรับอากาศก็จะทำงานหนักกว่าที่ออกแบบไว้รวมถึงทำให้อากาศภายในอาคารร้อนขึ้นเกินกว่าค่าควบคุมจนทำให้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว (สภาวะอากาศที่คนเราจะรู้สึกสบายคือที่อุณหภูมิอากาศ 25 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ 60%)

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียวโดยสมาคมผู้ออกแบบระบบปรับอากาศก็ได้มีการออกข้อแนะนำสำหรับการเดินระบบปรับอากาศเพื่อรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสำหรับอาคารที่มีระบบแอร์รวมโดยหลักก็คือใช้ระบบปรับอากาศที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้

  • เพิ่มอัตราการนำอากาศใหม่(Fresh air) และอัตราการระบายอากาศออก(Exhaust Air) ของระบบปรับอากาศ ซึ่งอันนี้ก็ต้องดูไม่ให้เกินกำลังของเครื่องปรับอากาศที่มีอยู่
  • หมั่นตรวจสอบทำความสะอาดฟิลเตอร์แอร์และตัวคอยน์ทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบปรับอากาศสามารถรับมือกับอัตราการนำอากาศใหม่เข้ามาผสมที่เพิ่มขึ้นได้และควบคุมความเย็นในอาคารให้เป็นไปตามที่ต้องการ
  • ปรับระดับอุณหภูมิควบคุมที่ 24 องศาสำหรับพื้นที่อากาศชื้น และปรับสูงขึ้นไปได้อีกหากอากาศแห้ง และใช้พัดลมช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนอากาศในอาคาร

2.ใช้ฟิลเตอร์ความละเอียดสูง อย่าง HEPA Filter ในระบบปรับอากาศ

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ HEPA Filter อยู่แล้วจากที่ก่อนหน้านี้ที่เราประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 กัน ซึ่งฟิลเตอร์ชนิดนี้สามารถกรองไวรัสออกจากอากาศได้ ซึ่งถ้านำมาติดไว้ในท่ออากาศวนกลับเข้าเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นก็จะช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้นได้ แต่การใช้ HEPA Filter ในระบบปรับอากาศก็จะทำให้อัตราการไหลของอากาศลดลง กินแรงพัดลมและกินไฟมากขึ้น

แต่ก็สามารถลดปัญหานี้ได้ด้วยการออกแบบให้มีการแบ่งอากาศบางส่วนให้ไหลผ่าน HEPA Filter ไม่ต้องให้ลมเย็นกลับผ่านฟิลเตอร์ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องแลกกับสัดส่วนของอากาศที่ผ่านฟิลเตอร์ทำให้ดักเอาเชื้อโรคออกไปจากอากาศได้ไม่หมด ถ้าระบบปรับอากาศยังไหวยังไงก็ควรให้อากาศไหลผ่านฟิลเตอร์ 100% เพื่อที่อย่างน้อยลมจ่ายออกหัวจ่ายลมเย็นเป็นอากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นและเชื้อโรค

3. ติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วยแสง UV 

วิธีนี้ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่มีอยู่ในอากาศซะก็สิ้นเรื่อง ซึ่งวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการใช้แสง UV ฆ่าเชื้อโรค การใช้แสง UV ฆ่าเชื้อนี้มีใช้กันอยู่แล้วในโรงพยาบาลหรือเวลาที่เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เข้าทำการฆ่าเชื้อในบริเวณพื้นที่การระบาด แต่การใช้แสง UV นี้มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถทำได้ในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่ได้ทั้งนี้เพราะแสง UV เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยแสง UV-C ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อนั้นเป็นอันตรายหากสัมผัสกับแสงโดยตรงจะทำให้ผิวหนังอักเสบและไหม้และหากได้รับในระดับความเข้มสูงอาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบ แสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง ตาแดง ในระยะยาวอาจเกิดต้อลม ต้อกระจกจนสูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้ นอกจากนี้หากแสง UV-C ไปสัมผัสกับโมเลกุลของออกซิเจน (O2) ในอากาศ จะเกิดก๊าซโอโซน (O3) ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

ดังนั้นการจะใช้แสง UV ฆ่าเชื้อในห้างหรืออาคารสำนักงานจึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งก็มีไอเดียการใช้หลอดไฟ UV ติดในที่สูง เช่นห้องที่มีฝ้าสูงและใช้ฉากบังแสง UV ไม่ได้ลงมาโดนคน แต่การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้แน่ใจว่าระบบนั้นได้ผลในการฆ่าเชื้อโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในอาคาร

หรือจะติดหลอดไฟ UV ไว้ในท่อส่งลมในระบบปรับอากาศก็คงต้องติดกันเยอะมากเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้เพราะกระแสลมที่วิ่งในท่อนั้นเร็วมากจนอาจมีเวลาไม่พอที่แสง UV จะฆ่าเชื้อได้ทันก่อนที่จะออกมาในพื้นที่ปรับอากาศอีกครั้ง

*********************************************************************************

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าทำไม่ได้ง่าย ๆ เลยครับ หรือทำได้แต่ก็มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ และแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ปิดอื่น ๆ ที่ผู้คนต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเช่น บนเครื่องบิน หรือบนรถบัสได้อีกด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ผู้คนก็น่าจะอุ่นใจมากขึ้นที่จะต้องเดินทาง หรือต้องไปอยู่ในอาคารสำนักงาน ห้างร้านที่มีระบบปรับอากาศรวม

อ้างอิง

https://science.sciencemag.org/content/372/6549/1439?fbclid=IwAR3xY7eivmuARi42V6uXlil4YBr7HEEU44XO_GgHXfog7TAX2RExl8oklRA

https://www.wbur.org/hereandnow/2020/05/19/air-conditioning-coronavirus

https://www.hse.gov.uk/coronavirus/equipment-and-machinery/air-conditioning-and-ventilation/identifying-poorly-ventilated-areas.htm

https://www.clickorlando.com/news/local/2020/11/13/do-uv-lights-kill-covid-19-in-air-conditioning-systems/

https://mes.gov.in/sites/default/files/COVID%2019%20GUIDELINES%20FOR%20OPERATION%20OF%20AIR%20CONDITIONING%20VENTILATION%20SYSTEM%20DT%2028%20APR%202020_1.pdf

https://www.sciencenews.org/article/coronavirus-covid-air-spread-indoor-clean-ventilation-filtration

https://www.epa.gov/coronavirus/indoor-air-and-coronavirus-covid-19