หลังจากก่อนหน้านี้พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีกำหนดจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ แต่ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการบังคับกฎหมายบางหมวดใช้ไปอีก 1 ปี

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงความจำเป็นในการออกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ในหมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 7 บทกำหนดโทษ และความในมาตรา 95 และมาตรา 96 ที่เดิมจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 27 พ.ค. 2563 ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน

สาเหตุหลักของการเลื่อนใช้กฎหมายในครั้งนี้ก็คือ ทุกภาคส่วนยังไม่มีความพร้อม ซึ่งหากบังคับใช้ตามกรอบเวลาเดิมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ จากการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจจะเป็นช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่หวังดีใช้แสวงหาผลประโยชน์จากตรงนี้ได้

นอกจากนั้นในสถานการณ์ของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคเอกชนได้รับผลกระทบกันหมด ทั้งองค์กรขนาดเล็กจนไปถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่องที่จะนำมาลงทุนทั้งในเรื่องของระบบ จนไปถึงการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับกฎหมายได้ การเลื่อนบังคับใช้จะช่วยให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้นนั่นเอง

ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯเอง ได้ดำเนินการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอรายชื่อบุคคลต่อคณะรัฐมนตรี และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เช่น 1.การบริหารจัดการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2.การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3.การส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ 4.สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 5.หน้าที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และ 6.การร้องเรียนและโทษปรับทางปกครอง