หลังจากเปิดตัวที่จีนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ทาง HUAWEI ได้จัดงานเปิดตัว  HarmonyOS ในไทย ตั้งเป็นเป็นระบบปฏิบัติการแบบ Open-source เชื่อมโยงทุกอุปกรณ์อย่างไร้รอยต่อและทำงานได้อย่างปลอดภัย

huawei-harmonyos

ทางหัวเว่ยเองลงทุนอย่างหนักในเทคโนโลยี 5G ที่ถือเป็นพื้นฐานแห่งอนาคต ซึ่งจะทำให้ IoT เกิดการแพร่หลายและใช้งานมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้อุปกรณ์ต่างๆสื่อสารถึงกัน ทำงานได้อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น มีการสำรวจแล้วว่าต่อไปคนเราจะมีอุปกรณ์ IoT ใช้เฉลี่ยคนละ 8 อุปกรณ์

กลยุทธ์ในระยะยาว 5-10 ปีของ HUAWEI นั้นต้องการเป็นผู้นำในการส่งมอบประสบการณ์ใช้งานผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลาย

แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันก็คือ แต่ละอุปกรณ์นั้นต่างก็มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง เช่น คอมพิวเตอร์ก็จะมี Windows , macOS หรือ Linux บนมือถือก็มี iOS หรือ Android ส่วนรถยนต์ก็มี CarPlay หรือ Andriod Auto ให้เลือกใช้

สิ่งที่เป็น Pain point ในปัจจัจุบันนั้นมีหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การที่ใช้แพลตฟอร์มแตกต่างกันทำให้การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทำได้ยากขึ้น, การนำระบบปฏิบัติการจากคอมพิวเตอร์ไปใส่ในอุปกรณ์ที่เล็กกว่าอย่างนาฬิกาอัจฉริยะ ทำได้ยากเนื่องจากสเปคแตกต่างกันเกินไป, การพัฒนาแอปลงแพลตฟอร์มนึงแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้ทุกระบบปฏฺบัติการ รวมถึงเมื่อ OS เวอร์ชั่นใหม่ออกมา อุปกรณ์เก่าๆบางตัวก็ไม่สามารถรองรับการทำงานได้

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นพัฒนา HarmonyOS ของฝั่ง HUAWEI ที่เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานได้ครอบคลุมทุกอุปกรณ์อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นยังคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอีกด้วย ในส่วนของนักพัฒนาเองก็รองรับการเขียนโค้ดภาษาต่างๆ ทำแอปครั้งเดียวใช้งานได้ทุกอุปกรณ์โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึก ช่วยทุ่นเวลาในการทำงานได้มาก

4 จุดเด่นของ HarmonyOS

1. Distributed OS

โครงสร้างสถาปัตยกรรมของ HarmonyOS จะเป็นระบบปฏิบัติการแบบกระจาย (Distributed OS) มีการใช้ MicroKernel มาช่วยจัดการทรัพยากรระบบเพื่อให้ใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ การพัฒนานั้นจะเป็นแบบ Module Based คล้ายๆกับตัวต่อเลโก้ โครงสร้างต่างๆจะแยกเป็นโมดูลเฉพาะ เช่น กล้อง, Gyro, ไมโครโฟน เวลาเราจะพัฒนาลงอุปกรณ์ไหนก็เลือกโมดูลที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกมาทุกฟังก์ชั่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนาฬิกาอาจจะใช่แค่หน้าจอ, ไมโครโฟน, ไจโรเซ็นเซอร์ ไม่ต้องเลือกโมดูกล้องมาใส่ก็ได้

ทุกอุปกรณ์นั้นจะเชื่อมต่อสื่อสารกันผ่าน Virtual Platform จึงทำให้ Latency ต่ำ การทำงารลื่นไหลมากขึ้น

2.การใช้งานที่ลื่นไหลยิ่งขึ้น

ปกติแล้วระบบปฏิบัติการทั่วไปนั้นจะใช้ Kernel เป็นตัวกลาง รับคำสั่งจากซอฟท์แวร์ไปยังฮาร์ดแวร์ของเครื่องนอกจากนั้น Kernel ในแต่ละอุปกรณ์ยังไม่เท่ากัน ซึ่งคอมพิวเตอร์จะมีมากกว่ามือถือ ส่วนมือถือก็มีมากกว่าสมาร์ทวอชท์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเกิดการสั่งงานต่างๆพร้อมกันหลายคำสั่งก็จะเกิดอาการติดขัด งานที่อยากให้เสร็จก่อนอาจเสร็จที่หลังได้

HarmonyOS นั้นจะใช้ Microkernel แยกการทำงานให้แต่ละคำสั่ง จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น นอกจากนั้นยังใช้เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-performance Inter Process Communication ทำให้ลดอาการหน่วงต่างๆของแอปได้ถึง 25.7%

3.ความปลอดภัยที่แน่นหนายิ่งขึ้น

HarmonyOS ให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยไม่แพ้กัน ถือเป็นระบบปฏิบัติการแรกที่มีการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE) สร้างโมดูลในการตรวจสอบทุกส่วนของซอฟท์แวร์ ดูความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา

นอกจากนั้นการเขียนโค้ดเองยังใช้ปริมาณบรรทัดการเขียนโค้ดที่น้อยกว่า Linux ถึง 1 ต่อ 1,000 จคงทำให้โอกาสมีช่องโหว่น้อยกว่า ทำให้การแฮคข้อมูลหรือเจาะระบบทำได้ยากขึ้น

4.Shared Ecosystem

ทางฝั่งของนักพัฒนาเองสามารถพัฒนาแอปหรือทำ UI ต่างๆได้ง่ายขึ้นผ่าน Widget and Adaptive layout ที่ใช้งานแบบ Drag & drop ลากมาวางแล้วปรับหน้าตาตามอุปกรณ์ที่เราต้องการนำไปใช้ ช่วยย่นเวลาการทำงานให้น้อยลง

ใครที่ถนัดเขียนแอปด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆก็ไม่เป็นปัญหา เพราะตัว OS รองรับระบบ Muti-Device IDE ไมว่านักพัฒนาจะเขียนแอปด้วยภาษาไหน ก็จะสามารถแปลงให้ทำงานบน HarmonyOS ได้ทันที เรียกว่าเขียนแอปครั้งเดียวนำไปใช้ได้ทุกอุปกรณ์ที่ต้องการ

อีกจุดเด่นนึงก็คือ HUAWEI ARK Compiler ที่ความสามารถเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของ Android  ที่จะช่วยรวมโค้ดที่ซับซ้อนให้กลายเป็นโค้ดที่ง่ายขึ้น เพื่อให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้ทำให้  HarmonyOS กลายเป็นระบบปฏิบัติที่น่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติที่เปิดกว้างให้นักพัฒนาทุกคน เชื่อมต่ออุปกรณ์กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง 5G, IoT และ AI ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น