วันศุกร์ทั้งที เราก็ต้องมาพร้อมกับข่าวดีดี ถูกต้องไหมคะ….ไทยเตรียมพร้อมขั้นสุด! กันไว้ดีกว่าแก้ ล่าสุด คณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสตาร์ทอัพไทย Hive Ground และ Obodriod ที่แฟนๆ Dailygizmo และ Ceemeagain คงคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว เพราะเป็นแก๊งนักนวัตกรรมที่ได้ไปอวดผลงานที่งาน CES เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เอง…
ในครั้งนี้ ทีม ปราณ ซึ่งนำโดย ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ร่วมกับนิสิตวิศวะจุฬาฯ บริษัท HiveGround และ Obodroid ได้คิดค้นและผลิตเครื่องช่วยหายใจภาคสนามแบบ Opensource ออกมาเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 เราก็ต้องระดมนักสู้ทุกวงการมาช่วยกันให้เราผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้แบบนี้แหละค่ะ
ที่มาของโครงการปราณ ซึ่งก็มีความหมายว่า ลมหายใจที่ให้ชีวิต แบ่งเป็น 2 ทีมย่อย คือทีมที่จะใช้ลูกบีบ ambu bag และ อีกทีมที่จะใช้เป็นปั๊มลม ซึ่งมีความคล้ายกับเครื่องช่วยหายใจที่ทางการแพทย์ใช้กันจริงๆ ทุกคนในโครงการปราณ อยู่ภายใต้โครงการสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ ในสถานการณ์ Covid-19 หรือว่า CU Robo Covid ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่สร้างหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อระหว่างคนไข้ หมอ และพยาบาล ซึ่ง “ปิ่นโต” ก็เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน
วันนี้ Dailygizmo จะขอมาเล่าเรื่องราวของเครื่องหายใจภาคสนามแบบ Open source ให้ฟังกันว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แล้วเครื่องนี้จะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ได้อธิบายให้เราฟังว่า เครื่องนี้ถูกออกแบบมาทดแทนเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดถึง 3 แสนคน ดังนั้นจำนวนเครื่องช่วยหายใจในประเทศ ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ หรือจะเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยหรือไม่ ด้วยสาเหตุนี้ จึงได้เป็นต้นกำเนิดของการสร้างเครื่องทดแทนเครื่องช่วยหายใจที่สร้างได้เร็ว สร้างได้ง่าย ราคาถูก แม้หน้าที่และความสามารถอาจจะไม่สูงเท่ากับเครื่องในห้อง ICU แต่สามารถใช้เครื่องนี้ทดแทน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดได้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้เป็น mobile ventilator เพื่อใช้งานในรถพยาบาลระหว่างส่งตัว หรือในกรณีฉุกเฉินมาก ๆ ก็สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับโรงพยาบาลสนามได้เลย ถ้าจำเป็น
ประโยชน์มากมายขนาดนี้ อดอยากทราบไม่ได้ว่าราคาจะเท่าไหร่ใช่ไหมคะ เครื่องช่วยหายใจตามโรงพยาบาล ที่ใช้กันในห้องผ่าตัดจริงๆเลยก็มีหลายราคาค่ะ มีตั้งแต่หลักแสนต้นๆ แสนปลายๆ หรือไปถึงหลักล้านเลยก็มี แล้วแต่ฟังชั่นและแหล่งผลิตของแต่ละเครื่อง สำหรับเครื่องช่วยหายใจแบบ Open Source ของอาจารย์ อาจารย์เล่าให้ฟัง ว่าเน้นเครื่องที่สร้างได้ง่าย ราคาถูก อุปกรณ์หาได้ทั่วไปในบ้านเรา ต้นทุนเนี่ย คุมจริงๆ สามารถต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ได้เลยนะคะ เพียงแค่มีเครื่องตัดด้วยแสงเลเซอร์ ก็สามารถสร้างได้ทั้งเครื่องนี้แล้ว
(เวอร์ชั่นแรก – maker version)
เครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนสูง แถมยังเกี่ยวกับลมหายใจ ที่เป็นเหมือนความเป็นความตายของคนเรา กลุ่มปราณเลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ทีมจะต้องผ่านการทดสอบทั้งหมด ให้เรียบร้อย ตรงมาตรฐาน เพื่อให้ความมั่นใจทั้งกับแพทย์และผู้ป่วย นอกจากนี้เครื่องช่วยหายใจทุกเครื่องยังต้องมี filter ที่เรียกว่า HEPA ซึ่งจะเป็นตัวกรองลมหายใจของคนไข้เพื่อกักเก็บละอองลมหายใจที่เป็นไปได้ที่จะมีเชื้อปะปนออกมาด้วย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องป้องกันไม่ให้ละอองเหล่านี้ฟุ้งกระจาย เพื่อให้ปลอดภัยกับคุณหมอ และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
(รุ่นที่ 6)
เวอร์ชั่นแรกที่เราเห็น เป็น maker version ที่ทำให้ makerspace ทั่วไทยสามารถช่วยกันสร้างเครื่องนี้ออกมาได้ ทางทีมออกแบบเครื่องนี้มาเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว ซึ่ง เราเร่งทำ 1 version ต่อ 1 วันเลย (แหม่…ฟัง ๆ อาจารย์อธิบายแล้วก็เหมือนกับ Hackathon ในโจทย์ชีวิตจริง ๆ เลยนะคะ) อาจารย์สุรัฐ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า เครื่องที่สร้างขึ้นได้ผ่านการทำงาน ทดสอบอย่างต่อเนื่อง 24 ไม่มีวันหยุด แต่เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานได้จริงต้องรอทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องช่วยหายใจอีกที
สำหรับผู้ที่ต้องการช่วยเหลือหรือสนับสนุนโครงการ สามารถติดต่อมาได้ที่ LINE: @curobocovid หรือลองเข้าไปติดตามความคืบหน้าของโครงการได้จาก facebook CU Robo Covid ได้เลยนะคะ
ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงค่ะ
Source: ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง, HiveGround, Obodriod