เคยสงสัยมั้ยว่าตอนนี้เราสามารถตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้หลายวิธี แล้ววิธีไหนที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพในการตรวจเจอเชื้อเร็วสุด

ทาง Dailygizmo ไปเจองานวิจัยน่าสนใจชิ้นนึงเกี่ยวกับการหาเชื้อด้วยแอนติบอดี้ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases งานวิจัยนี้เป็นของทีมนักวิจัยจากประเทศจีน  ศึกษาเรื่องระดับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้ COVID-19 โดยเก็บพลาสมาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 173 คนในโรงพยาบาลเซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการยืนยันว่าติดเชื้อจริง

เนื่องจากไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านที่สามารถนำมารักษาให้หายขาดได้ ทางนักวิจัยเองก็เลยอยากรู้ว่า แอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์มีการตอบสนองอย่างไรเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

ทางนักวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลต่างๆจากการนำพลาสมาของผู้ป่วยมาทดสอบ หลังจากนั้นนำมาเทียบกับวันที่ตรวจพบอาการป่วยออกมา ซึ่งข้อมูลที่เก็บไปก็มีทั้งปริมาณสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัส, ภูมิคุ้มกันทั้งหมด (Ab = Antibody), ภูมิคุ้มกันชนิด Immunoglobulin M (IgM) และ ภูมิคุ้มกันชนิด Immunoglobulin G (IgG) จนได้ตารางด้านล่างออกมา

แถบสีในตารางนั้นเป็นตัวบ่งชี้ ยิ่งมีสีเข้มหมายถึงมีการตรวจพบได้เยอะ ส่วนสีอ่อนหมายความว่าตรวจพบได้น้อย สิ่งที่น่าสนใจคือ

  • การตรวจปริมาณสารพันธุกรรม (RNA) จะเห็นว่าสีเริ่มเข้มตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 8 ก็ตรวจพบเชื้อแล้ว เรียกว่าสามารถตรวจสอบการติดเชื้อได้เร็วกว่าวิธีอื่นๆ
  • การตรวจปริมาณภูมิคุ้มกัน (Ab) จะเห็นว่าเริ่มมีสีเข้มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ซึ่งมีอัตราการพบเชื้อได้มากเกิน 50% จากนั้นปริมาณเชื้อจะเริ่มเพิ่มมากขึ้นจนไปถึงวันที่ 21 -องการติดเชื้อ 
  • การตรวจปริมาณภูมิคุ้มกันชนิด IgM จะเริ่มมีสีเข้มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นไป ซึ่งเชื้อเริ่มตรวจพบได้มากเกิน 50% 
  • การตรวจปริมาณภูมิคุ้มกันชนิด IgG จะเริ่มมีสีเข้มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นไป ซึ่งเชื้อเริ่มตรวจพบได้มากเกิน 50% แต่ก็มีบางส่วนก็จะพบมากก็ตั้งแต่วันที่ 14 ไปแล้ว

ผลการวิจัยนี้บอกอะไรเรา?

การตรวจปริมาณสารพันธุกรรม  (RNA) ของโคโรนาไวรัสนั้นถือว่าเป็นวิธีการตรวจหาการติดเชื้อที่เร็วที่สุด เพราะสามารถรู้ได้ตั้งแต่ช่วงระยะแรกๆของการติดเชื้อ ซึ่งการตรวจนั้นจะใช้วิธี RT-PCR โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก ส่งไปตรวจสอบในห้องแล็ป ทำให้ได้ผลที่แม่นยำ แต่มีกระบวนการจะค่อนข้างยุ่งยากกว่า ใช้เวลายาวนานกว่าจะรู้ผล

ส่วนการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งการตรวจแบบนี้จะนิยมใช้ Strip test หยดตัวอย่างเลือดลงไปรู้ผลในเวลาแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น แม้จะเป็นการตรวจที่รวดเร็ว ง่าย และมีราคาถูก แต่การจะตรวจได้ผลนั้น ต้องเป็นระยะ 8 วันหลังจากที่เชื้อเริ่มแสดงอาการแล้ว

นอกจากนั้นทางแหล่งข่าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อมูลกับ Dailygizmo ว่า การตรวจแบบ Strip test แบบนี้ เป็นการตรวจแอนติบอดี IgM และ IgG ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าเป็น การตรวจมาตรฐานสูงสุด (gold standard) เพราะเขาใช้การตรวจทางอ้อมจากการตอบสนองของแอนติบอดีของเราที่มีต่อเชื้อไวรัส

รวมถึงยังไม่มีหน่วยงานกลางที่สามารถยืนยันได้ว่าของ Strip test ยี่ห้อไหนได้ validate การตรวจว่าเหมาะสำหรับการติดเชื้อมาแล้วกี่วัน นั่นหมายความว่า ถ้าเราติดเชื้อแล้ว แต่แอนติบอดียังไม่ทำงานภายใน 7-14 วัน ผลตรวจออกมาเป็น negative อาจเป็นผลลวงลบ (false negative) คือ ยังไม่พบเชื้อเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าติดเชื้อรึเปล่าเพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวยังไม่แสดงอาการออกมา ซึ่งในระหว่างนี้คนที่ติดเชื้ออาจจะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆไปแล้ว

ที่มา medrxiv /Aey Amornrat