ดูเหมือนว่าการเว้นระยะ 2 เมตรตอนนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ล่าสุดมีการนำกล้องความเร็วสูงมาจับภาพตอนไอ แสดงให้เห็นว่าละอองฝอยต่างๆ แพร่กระจายในอากาศได้ไกลกว่านั้นมาก

เพื่อทำความเข้าใจการแพร่กระจายของไวรัสในอากาศ ทาง Bourouiba นักวิจัยจาก MIT จึงได้ใช้กล้องความเร็วสูงและการจัดแสง มาช่วยเก็บภาพขณะที่คนกำลังไอหรือจาม เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นพาหะแพร่เชื้อได้อย่างไร

กล้องตัวนี้มีคุณภาพสูงสามารถจับภาพได้ถึง 2,000 เฟรมต่อวินาที ผลการเก็บภาพพบว่าเวลาที่เราไอหรือจามออกมา ละอองฝอยต่างๆไม่ว่าจะเป็นน้ำลายหรือน้ำมูกที่ปล่อยออกมานั้นสามารถเดินทางไปในอากาศได้ไกลสุดถึง 27 ฟุตหรือ 8.2 เมตรเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมว่าสิ่งที่เราปล่อยออกมานั้นยังลอยอยู่กลางอากาศได้อีกหลายนาที ทั้งนี้ก็ขึ้นกับขนาดของละอองฝอย ยิ่งเล็กก็จะยิ่งลอยได้นานขึ้นไกลขึ้น ถ้าละอองใหญ่จะตกลงสู่พื้นได้เร็ว

การเข้าใจการแพร่กระจายของละอองฝอยเหล่านี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือกับ COVID-19 ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวเปิดประเด็นในเรื่องของการแพร่กระจายของไวรัสในอากาศที่น่ากลัวกว่าที่หลายคนคิด เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคมแค่ 2 เมตรอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากเชื้อโรคเดินทางได้ไกลกว่านั้นถึง 4 เท่าตัว นอกจากนั้นเราอาาจะต้องมาปรับมาตรการในเรื่องของจำนวนคนต่อพื้นที่ ว่าเมื่อมาอยู่รวมกันแล้วควรมีจำนวนคนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม

การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบในห้องทดลอง แต่สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกไม่ได้คือ ยังไม่สามารถเก็บตัวอย่าง COVID-19 ที่ลอยอยู่ในอากาศได้ เพราะการใช้ตัวกรองในการเก็บนั้นจะทำให้ละอองฝอยเหล่านี้ระเหยไปหมดซะก่อน จึงไม่สามารถบอกได้ว่า COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยขนาดเล็กรึเปล่า

แน่นอนว่าการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือ การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้ รวมถึงล้างมือเป็นประจำและเว้นระยะห่างจากคนอื่นให้เหมาะสมนั่นเอง

ที่มา National Geographic