ข่าวดีสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคตับ!!! ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องรอบริจาคเป็นเวลานานแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับขนาดเล็กที่สร้างขึ้นจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ในห้องทดลอง ลงไปในหนูทดลองและทำงานได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคตับทั่วโรคเป็นจำนวนมาก เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีผู้ที่เสียชีวิตจากตับล้มเหลวปีละมากกว่า 40,000 คน แน่นอนว่าการเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายตับเองก็ต้องรอคิวเป็นเวลานาน แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทางนักวิจัยจากคณะแพทย์ของ University of Pittsburgh จึงได้คิดค้นวิธีใหม่ในการปลูกตับขึ้นมา
ตับนี้ถูกปลูกขึ้นในห้องทดลอง โดยใช้เซลล์ผิวหนังจากอาสาสมัคร นำมาสกัดสเต็มเซลล์ จากนั้นก็ผสมฮอร์โมนและสารอื่นๆเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเซลล์ตับ ส่งผลให้มันสามารถทำงานได้เต็มรูปแบบเหมือนกับตับจริงๆ
ปกติแล้วร่างกายเราจะใช้เวลาสร้างตับ 2 ปีนับตั้งแต่เราคลอดออกมา แต่ตับขนาดเล็กที่นักวิจัยสร้างขึ้นนั้นใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น เมื่อเลี้ยงตับได้ตามขนาดที่ต้องการแล้วจึงได้ทำการไปปลูกถ่ายให้กับหนูทดลองซึ่งผ่านการคัดเลือก 5 ตัวเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการต่อต้าน เมื่อปลูกถ่ายเรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป 4 วัน นักวิจัยพบว่ามันสามารถหลั่งกรดน้ำดีและยูเรียได้เหมือนตับปกติ แถมยังพบโปรตีนตับของมนุษย์ในกระแสเลือดของหนูทดลอง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าตับปลูกนี้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์
อวัยวะปลูกในห้องทดลองนี้จะช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ตับล้มเหลวแล้วยังไม่มีผู้บริจาคอวัยวะให้ แพทย์สามารถปลูกถ่ายตับจากห้องทดลองให้ก่อนเพื่อช่วยยื้อชีวิตเอาไว้ได้
การทดสอบครั้งนี้จะเป็นการทดสอบแนวคิดว่าใช้งานได้จริง ถือว่าเปิดประตูไปสู่การรักษารูปแบบใหม่ๆในอนาคต แน่นอนว่ายังต้องมีงานอีกหลายเรื่องต้องทำก่อนที่จะนำเทคนิคนี้ไปใช้กับคนได้จริงๆ โดยเป้าหมายระยะยาวของโครงการนี้ก็คือ การสร้างอวัยวะคนในห้องแล็ปที่สามารถนำมาใช้ทดแทนการบริจาคได้จริง
ที่มา sciencealert/ scitechdaily