เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเนื้อหา พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัล มีผลบังคับใช้ 14 พฤษภาคมนี้
เนื่องจากตอนนี้เงินสกุลดิจิทัลเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไทยเองก็ต้องออกกฎหมายมาควบคุมเพื่อช่วยกำกับและดูแลการทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนไทยในวงกว้าง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทําให้การดําเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีความโปร่งใส อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและการคุ้มครองผู้ลงทุนและ ประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561
เนื้อหาของ “พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑” ที่ควรรู้มีดังนี้
1.หน่วยงานที่รับหน้าที่หลักในการกำกับดูแลก็คือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
2.ให้คำนิยาม “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ได้แก่ (๑) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๒) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (๓) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (๔) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนนั้นจะถือเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมากำกับดูแลด้วยอีกฉบับ
3.การคำนวณเงินสกุลดิจทัลแปลงเป็นค่าเงินบาทนั้น จะต้องใช้หลักเกณฑ์ที่ กลต. กำหนด
4.การเสนอขายเงินดิจิทัลต่อประชาชน (ICT: Initial Coin Offerings) ต้องได้รับอนุญาตจาก กลต. ก่อน โดยจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่ผ่านตามเกณฑ์ข้อกำหนด
5.ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตก่อน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด
6.กําไรที่ได้จากการโอนเงินดิจิทัลนั้นจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินต้องนำไปคิดภาษีเงินได้ประจำปีด้วย โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่ได้