กฎหมายใหม่!!! ผู้บินโดรนต้องรู้ เมื่อกรมการบินพลเรือนฯเตรียมปรับกฎหมายของใบอนุญาตใหม่  บังคับให้ผู้ใช้อบรมการใช้งานและสอบขอใบอนุญาตบินโดรนจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน เหมือนทำใบขับขี่รถยนต์

Drone

บินโดรนต้องใช้ใบอนุญาตอะไรบ้าง?

ปัจจุบันถ้าหากเราซื้อโดรนมาแล้ว ไม่สามารถบินโดรนได้เลยนะต้องไปลงทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง รวมถึงเกิดความปลอดภัยร่วมกันในการใช้งาน โดยจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ 2 ส่วนคือ กสทช.และ กรมการบินพลเรือนฯ (CAAT)

Drone

ลงทะเบียนใช้คลื่นความถี่กับกสทช.

เมื่อเราซื้อโดรนมาแล้ว ขั้นตอนแรกคือการลงทะเบียนตัวโดรนกับกสทช.ก่อน เพื่อยืนยันว่าใครคือเจ้าของโดรนเครื่องนั้นและลงทะเบียนขอใช้คลื่นความถี่ในการบินโดรนเพราะโดรนนั้นใช้คลื่นวิทยุในการบังคับ ซึ่งคลื่นอาจจะไปรบกวนการใช้งานอื่นๆได้ดังนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุม

โดรนที่ต้องนำมาลงทะเบียนนั้นประกอบด้วย

  • โดรนที่ติดตั้งกล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ต้องลงทะเบียนทุกเครื่อง
  • โดรนที่น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี (ส่วนโดรนที่น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัมและไม่ติดตั้งกล้อง สามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องมาลงทะเบียน)
  • โดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม ขึ้นไป ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ใบอนุญาตนี้จะมีอายุ 2 ปีนับตั้งแต่วันออก หากหมดอายุแล้วก็ต้องไปลงทะเบียนใหม่ ซึ่งหลายร้านขายโดรนเองก็เริ่มมีบริการรับลงทะเบียนให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อ ส่วนใครที่อยากลงทะเบียนด้วยตัวเองให้ไปที่สำนักงานกสทช.

Drone Licence

ลงทะเบียนทะเบียนผู้บังคับโดรนกับกรมการบินพลเรือนฯ

หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วยังไม่สามารถบินโดรนได้เลยนะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินกับทางกรมการบินพลเรือนฯ (CAAT) ก่อน

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือการซื้อประกันภัยโดรน เพราะตอนลงทะเบียนเราจะต้องยื่นเอกสารประกันภัยประกอบด้วย ซึ่งประกันนี้จะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอก ในกรณีที่โดรนเกิดหล่นใส่หัวหรือทรัพย์สินของใคร จะได้มีการคุ้มครองค่าเสียหายตรงนี้ให้ ส่วนค่าประกันภัยโดรนชั้นที่ 3 วงเงินประกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เสียค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 1,900 บาท

เมื่อเอกสารพร้อมเราสามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้เลยค่ะที่ https://uav.caat.or.th/ ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็เสร็จ โดยจะรู้ผลใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสารครบถ้วน

ปรับกฎหมายใหม่ผู้ใช้ต้องอบรม-สอบ เหมือนทำใบขับขี่

จากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่จะเห็นได้ว่าการลงทะเบียนรวมถึงขอใบอนุญาตนั้นเรียกว่าง่ายมากๆ เพียงแค่กรอกและยื่นเอกสารครบ รอไม่กี่วันก็ได้รับใบอนุญาตแล้ว แต่นั้นไม่ได้รับประกันว่าคนที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วจะนำไปใช้งานแบบถูกต้องหรือไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น

ล่าสุดทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)ได้เปิดเผยแนวทางกำกับดูแลผู้ใช้โดรนในปีนี้ พร้อมเผยทิศทางดำเนินงานในปี 2563 เน้นการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินพลเรือนในทุกมิติ ขับเคลื่อนการบินพลเรือนของไทย และองค์กร โดยเน้นงานด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินใน 3 ส่วน คือ

  1. การยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ การเตรียมการสำหรับมาตรฐานใหม่ในอนาคต อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS)
  2. การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ
  3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ องค์ความรู้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มั่นใจแผนงานดังกล่าวจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินได้ตามวิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน: Standard toward Sustainability”

ในส่วนของการกำกับดูแลโดรนนั้นเพื่อยกระดับการใช้งานให้ปลอดภัยและมีมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากผู้ใช้โดรนมีจำนวนมากขึ้นทุกปี เนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โดรนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในราคาขายที่ถูกลง ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนแล้วมากกว่า 16,000 ราย นำไปใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร, ถ่ายภาพ, งานสำรวจ เป็นต้น

การที่ผู้ใช้เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนทั่วไป เรื่องความเป็นส่วนตัวของโดรนที่ติดตั้งกล้อง จนไปถึงเรื่องของความมั่นคงที่อาจใช้โดรนสอดแนมความลับของทางราชการได้ เป็นต้น ทางสำนักงานการบินพลเรือนได้วางแผนปรับกฎหมายขอใบอนุญาตใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเมืองระหว่างประเทศ (ICAO)

เรื่องแรกคือจะมีโรงเรียนสอนอบรมการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำหรับฝึกอบรมผู้ต้องการบินโดรนแบบมืออาชีพ รวมถึงการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติก่อนได้รับใบอนุญาต โดยจะมีสถาบันฝึกอบรมนักบินโดรนที่จัดตั้งโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)  เป็นสถาบันต้นแบบในการฝึกบินโดรน และให้บริการการฝึกบินที่ได้มาตรฐาน

เรื่องที่สองคือมีการจัดสอบนักบินโดรนก่อนให้อนุญาต เพื่อคัดกรองนักบินโดรนที่มีคุณภาพ เหมือนตอนที่เราไปสอบใบขับขี่รถยนต์นั่นแหละค่ะ

ส่วนกฎใหม่นี้จะประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ก็ต้องมาติดตามกันค่ะ แต่ทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลทั่วไป แล้วคุณล่ะว่าถ้าการขอใบอนุญาตโดรนยากขึ้นจะช่วยคัดกรองผู้ใช้ที่มีคุณภาพได่รึเปล่านะ ลองเมนต์กันหน่อย

VIA CAAT