ข่าวดีวงการเงินในประเทศไทย ที่แบงค์ชาติประกาศ จะเริ่มทดลองใช้ “เงินบาทดิจิทัล” หลังกระแสเงินดิจิทัลมาแรง เพื่อวางรากฐานโครงสร้างการเงินไทยในอนาคตให้มุ่งสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง คาดว่าจะเริ่มใช้ในช่วงกลางปี 2022 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

เงินบาทดิจิทัลคืออะไร?

บาทดิจิทัลคือ สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติของประเทศไทย หรือที่เรียกย่อๆว่า CBDC  (Central Bank Digital Currency) แปลให้เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ (ในที่นี้คือประเทศไทย) สามารถใช้ทดแทนได้ไม่ต่างกับ สกุลเงินที่เป็น Fiat (เงินกระดาษ) ในกรณีของไทย CBDC ก็คือเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ ‘ดิจิทัล’ ในอัตราส่วน 1:1 หมายความว่า เงินสด 100 บาทจะเท่ากับ 100 บาทดิจิทัลนั่นเองค่ะ

 

ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน (Private Digital Currency)
  2. สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

ความแตกต่างระหว่างบาทดิจิทัลกับเงินสด

สิ่งที่แตกต่างระหว่างเงินบาทดิจิทัลกับเงินบาทที่เราใช้งานอยู่บนแอปพลิเคชั่นทั่วๆไป หลายๆคนอาจจะคิดว่าเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วมีความแตกต่างในด้านของแหล่งที่มาของเงิน ในแบบเดิมที่เราใช้กันจะเป็นการพิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน แล้วค่อยมาแปลงเป็นตัวเลขภายหลังมาใส่ในระบบ E-Money หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสั่งพิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน แล้วจึงนำเงินเข้าสู่ระบบการเงินต่างๆผ่านธนาคาร หมุนเวียนใช้งานผ่านตัวกลางต่างๆ เช่น ถอนเป็นเงินสด เป็นตัวเลขในธนาคาร หรือตัวเลขในแอปพลิเคชั่น พูดง่ายๆคือการเปลี่ยนกระดาษมาเป็นตัวเลขเท่านั้นแต่เงินบาทที่เป็น “บาทดิจิทัล” ที่กล่าวไป คือ.. เงินดิจิทัลจริงๆ เลย โดยที่ธนาคารกลางจะออกเงินมาบน ‘ระบบ blockchain’ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากธนบัตรเป็นตัวเลข แล้วเงินดิจิทัล ก็สามารถป้อนเข้าสู่ระบบได้โดยตรง แล้วเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ใช้งานโดยตรงโดยที่ไม่ต้องผ่านธนาการตัวกลางใดๆ ซึ่งสามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้จริงได้เลยเหมือนการใช้เงินสด แต่เงินดิจิทัลจะมีความแตกต่างจากเงินสดในเรื่องการบันทึกข้อมูลธุรกรรมทางการเงินลงระบบบล็อกเชน เอาไว้ตลอด ทำให้สามารถติดตามเงินได้ทุกบาท ว่าถูกใช้ทำอะไร ใช้ที่ไหน

ข้อดี ของการใช้บาทดิจิทัล

ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (DLT) หรือบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งส่งผ่านมูลค่าระหว่างกันโดยไม่มีตัวกลาง ต้นทุนต่ำ ผู้ใช้เข้าถึงง่ายในทุกที่ทุกเวลาสามารถลดข้อจำกัดของการใช้เงินสด รวมถึงลดต้นทุนด้านบริหารจัดการของธนาคารต่างๆจะไม่มีอีกต่อไป

คลิ๊กเพื่อทำความรู้จักเทคโนโลยีบล็อคเชน

ต่างกับ Bitcoin ไหม?

ความเหมือนกันคือการใช้งานผ่านระบบบล็อกเชน แต่ Bitcoin นั้นมาจากอีกแนวคิดที่เน้นระบบ  ‘Decentralize ที่ไม่มีใครมาควบคุม แต่ ‘เงินบาทดิจิทัล’ จะถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเอง และผูกกับค่าเงินบาทของไทยอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ความผันผวนของราคาจะไม่ผันผวนสูงเหมือนกับ Bitcoin ที่ออกโดยภาคเอกชนนั่นเองค่ะ

อนาคตของ บาทดิจิทัล

แน่นอนว่าระบบบล็อคเชนจะเป็นอนาคตการเงินของโลก ไม่ช้าก็เร็ว แต่สำหรับบาทดิจิทัลก็เป็นอนาคตการเงินของคนไทยเช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มมีการทดสอบบ้างแล้วกับเอกชนบางรายเพื่อศึกษาข้อมูล ศึกษาผลกระทบต่อระบบการเงินเดิม และนำไปสู่การหาข้อสรุปในเรื่องกฎระเบียบ และข้อกฎหมายต่างๆ ตามมา หลังผ่านการทดสอบใช้งานคาดว่าอีกไม่นานก็คงจะต้องมีการทดสอบใช้งานในภาคประชาชนเป็นวงกว้าง และความเสี่ยงยังน้อยกว่าการใช้สกุลเงินเอกชนอย่าง Bitcoin

ความเสี่ยงของการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน เช่น Bitcoin

  1. ความเสี่ยงที่มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกจะผันผวนสูง
  2. ความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางทางการเงินที่มีธนาคารกลาง เป็นผู้ดูแลความมั่นคงของระบบการเงินโดยรวม รวมถึงเป็นผู้ให้กู้แหล่งสุดท้ายหากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง
  3. ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ เมื่อเทียบกับการใช้ fiat money ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และสำหรับกรณีไทย ผู้ใช้ยังมั่นใจได้ว่าเงินที่ถือมีมูลค่าจริงเพราะมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลังตามกฎหมาย

ความเสี่ยงต่อการบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงิน

เนื่องจาก retail CBDC มีต้นทุนการถือครองต่ำกว่าเงินสด เข้าถึงง่าย และทำธุรกรรมได้สะดวกผ่าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาจทำให้เงินฝากบางส่วนไหลออกจากระบบสถาบันการเงินเปลี่ยนไปถือ retail CBDC ได้อย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจทา ให้ผู้ฝากเงินรายอื่นเร่งถอนเงินฝาก จนกระทบต่อสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงินในที่สุด โดยเฉพาะจากที่เงินฝากออมทรัพย์เป็นเงินฝากส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้ฝากเงินสามารถ ไถ่ถอนได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดีความเสี่ยงต่อการบริหารสภาพคล่อง (liquidity risk) ดังกล่าวขึ้นกับแต่ละ สถานการณ์การเตรียมการป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นของธนาคารกลางจะช่วยจำกัดผลกระทบนี้ เพื่อให้ผู้ใช้เงินมั่นใจได้ว่าเงินทุกรูปแบบมีความปลอดภัยเท่ากันไม่ว่าจะอยู่ในรูปเงินสด เงินฝากสถาบันการเงิน หรือ retail CBDC

สรุปประเทศไทยพร้อมใช้ CBDC ขนาดไหน?

แบงค์ชาติอยู่ระหว่างการทดสอบเทคโนโลยี CBDC เพื่อให้รองรับปริมาณ การทำธุรกรรมของประชาชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการป้องกันการจารกรรมหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม และตอบคำถามที่พบบ่อย จากธนาคารแห่งประเทศไทย

https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Documents/CBDC-FAQs.pdf

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย