ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการงานหลายๆ ด้าน ยิ่งเรื่องของการรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนาในตอนนี้ก็น่าเป็นห่วง โดยก่อนหน้านี้ทีมงาน Dailygizmo.tv ได้มีโอกาสเยือนโรงพยาบาลรามคำแหงมาและได้เห็นนวัตกรรมระบบภายในที่ใช้สำหรับสื่อสารภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ความคล่องตัวในการทำงานระหว่างกันของแพทย์และบุคลากร ที่สามารถทำงานได้อย่างมีระบบ ฉับไว ครั้งนี้มาถึงคิวของทางโรงพยาบาลกรุงเทพบ้าง นำทีมโดย พี่ซี ฉัตรปวีณ์ ไปเยี่ยมชมเองเลย สำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพถือเป็นโรงพยาบาลที่มีโรงพยาบาลเอกชนในเครือจำนวนมากและทุ่มงบประมาณกับการทำวิจัยและแสวงหาด้านนวัตกรรมไม่น้อยเช่นกัน

สงสัยไหม รพ.แยกผู้ป่วย “ติดเชื้อหรือไม่” ยังไง?

ด่านแรกตอนนี้ที่สาธารณะที่ต้องเจอในโรงพยาบาลเลยก็คงหนีไม่พ้นเครื่องวัดอุณหภูมิว่า “เรามีไข้หรือไม่?” ซึ่งถ้ามันระบุว่าคุณ “มีความเสี่ยง” จะถูกแยกไปที่ “Isolation Area” ซึ่งเป็นเหมือนห้องรอตรวจแยกส่วนกับผู้ป่วยอื่น เพราะอะไรนะหรอ แน่นอนว่า “ระบบการระบายอากาศก็แยกกับระบบกลางของโรงพยาบาล” โรคที่ติดเชื้อจาก “อากาศ”หรือ “ลมหายใจ” ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

 

โดยเรื่องการติดต่อภายในพื้นที่ส่วนรวมของโรงพยาบาลเอกชน อย่าง โรงพยาบาลกรุงเทพนั้น มีห้องแยกผู้ป่วยรอตรวจหรือรอผลอาการชัดเจนให้ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐส่วนมากมีงบประมาณไม่มากพอที่จะใช้วิธีคัดกรองแยกผู้ป่วยแบบนี้ แต่จะใช้วิธี “ใช้พื้นที่โล่งแจ้งที่มีแสงแดดส่อง” เป็นพื้นที่หน้าอาคารในการคัดแยกผู้ป่วยเสี่ยงออกมาเพื่อรอตรวจ

ทั้งนี้ภายในห้องนอกจากจะมีส่วนของการ “ตรวจสุขภาพเบื้องต้น” แล้วอีกส่วนคือ “เตียงกั้นที่แยกด้วยม่าน” เพื่อรอรับการตรวจรักษา ซึ่งในห้องจะใช้ “หุ่นยนต์ส่งของ” ที่ลงทุนพัฒนาโดยทีมนวัตกรรมของ BDMS ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 10 ตัว เพื่อทำการ “ส่งยา” “ส่งอาหาร” เข้าไปให้ผู้ป่วยในห้อง โดยพยาบาลจะเฝ้าหน้าห้องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ อีกทั้งเมื่อหุ่นยนต์เข้าไปส่งอาหารหรือยาเรียบร้อยแล้ว พยาบาลหรือแพทย์สามารถ “วีดีโอคอล” พูดคุยกับคนไข้เพื่อตรวจเช็คอาการและความต้องการของคนไข้ได้ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะถูกทำความสะอาดทุกจุดทั้งในลิ้นชักและรอบตัวที่คนไข้อาจสัมผัส ในทุกครั้งหลังออกจากห้องเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการลดความเสี่ยงรับเชื้อ

ทำไม รพ.ทั่วไปถึงตรวจ COVID-19 ไม่ได้ ?

ถ้าสงสัยว่าตัวเอง หรือ ญาติพี่น้องมีความเสี่ยงติดเชื้อ อย่างแรกที่จะต้องทำคือเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยไม่ว่าจะโรงพยาบาลไหนก็ตามจะต้องส่งผลตรวจไปที่ “แล็บพิเศษ” เพื่อวิเคราะห์การติดเชื้อ ซึ่งในประเทศไทยมีแค่ 3 Lab เท่านั้น คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  , โรงพยาบาลรามาธิบดี และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

และหากเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศถือว่ามีศูนย์แล็บพิเศษที่เรียกว่า “น้อย” เพราะจำเป็นต้องเป็นแล็บระดับสูง เนื่องจากมาตรฐานระบบสาธารณสุขนั้นเข้มงวดมาก ดังนั้นการเกิดขึ้นของโรคระบาดโคโรนารอบนี้ถ้ามองในแง่ดี ทำให้เกิดความตื่นตัวในการตั้งรับ โดยมีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่พยามสร้างมาตรฐานเพื่อให้ได้ใบรับรองมากขึ้นด้วย ถือเป็นโอกาส “ยกระดับมาตรฐานห้องแล็บทั่วประเทศ” ที่ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 9 แห่งในประเทศไทยตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ในปีนี้