ในขณะที่แบรนด์น้องใหม่อย่าง Fisker, Rivian และ Faraday Future ท้าทายผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมด้วยการออกแบบรถพลังงานไฟฟ้าที่มีความแปลกใหม่ออกมาตีตลาดกันเป็นว่าเล่น แต่หนึ่งในแบรนด์ที่มีความเก๋าเกมส์อย่าง Hyundai กลับมองอะไรที่ “เหนือชั้น” กว่าอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดตัว “S-A1” แท็กซี่บินได้ โดยหวังที่จะผลิตอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ภายในปี 2023

Hyundai พยายามปรับตำแหน่งตัวเองเพื่อให้อยู่ในฐานะ “ผู้ให้บริการยานยนต์อัจฉริยะ” เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง TOYOTA และ Ford จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Hyundai ร่วมมือกับ Uber เพื่อจัดหา S-A1 ที่ตั้งใจจะให้เป็นกระดูกสันหลังหลักของ Uber Elevate โครงการของ Uber ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2017

“เรากำลังมองหารุ่งอรุณจะเปิดรับท้องฟ้ายุคใหม่ให้กับเมืองของเรา” Jaiwon Shin หัวหน้าฝ่าย Urban Air Mobility ของ Hyundai กล่าว “ด้วยการเดินทางทางอากาศแบบ Point-to-Point ที่ทำให้เราสามารถลดเวลาในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก”

ในการสร้าง S-A1 มีการปรับปรุงหลายประการกับเฮลิคอปเตอร์แบบดั้งเดิมเพื่อลดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย หากมีใบพัดส่วนใดส่วนหนึ่งในบรรดาใบพัดที่มีอยู่มากมายบนเฮลิคอปเตอร์เกิดปัญหาขึ้น ก็จะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลกระทบที่จะทำให้ยานทั้งลำเสียหาย และร่มชูชีพจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น และใบพัดที่หมุนช้ากว่าเฮลิคอปเตอร์ปกติจะมีเสียงที่เงียบกว่า เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องของเสียงรบกวนในเมือง Hyundai ไม่ได้เอ่ยหรือพูดถึงตัวนักบินที่ทำหน้าที่ขับ แต่ก็เห็นได้จากดีไซน์ที่ออกมาว่ามีที่นั่งนักบินอยู่หนึ่งที่นั่ง ซึ่งก็เป็นไปตามกฎระเบียบของ FAA ในปัจจุบัน ที่ไม่อนุญาตให้ขึ้นบินด้วยอากาศยานไร้คนขับ

 

Hyundai จะทำการจัดหาอากาศยานหรือแท็กซี่บินได้ให้กับ Uber ภายในปี 2023 โดย Eric Allison หัวหน้าโครงการ Uber Elevate ได้กล่าวไว้ว่า “เราไม่ใช่บริษัทผลิตอากาศยาน และไม่เคยคิดว่าจะเป็น” และยังกล่าวเสริมอีกว่า “แพลตฟอร์มของเราจะกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองต่างๆทั่วโลก”

ภาพของ S-A1 ในสายตาของ Hyundai นั้นจะเป็นองค์ประกอบเดียวบนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึง Pod Cars โดยได้รับการขนานนามว่า Purpose Built Vehicles (PBVs) และ Hubs โดย PBVs จะเป็นระบบไฟฟ้า ทำงานได้อย่างอิสระ และประกอบด้วยหลายองค์ประกอบที่จะใช้ได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงคลินิกทางการแพทย์ Hyundai ยังได้วาดภาพของ “ S-Hubs” ไว้เหมือนกับแมงมุมที่มีหลายขา สำหรับขนส่งผู้โดยสารระหว่างอากาศยาน และทำหน้าที่เป็นเหมือนกับชานชลาอีกด้วย S-A1 แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการประกาศว่าเมื่อไหร่จะเริ่มใช้งาน S-Hubs ออกมาในตอนนี้

และแล้วก็มาถึงวันที่นิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแท็กซี่บินได้ได้มาถึงโลกแห่งความเป็นไปได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า มีลำตัวเหมือนโดรน มีหลายใบพัดและยังถูกปรับให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับผู้โดยสาร หรือการที่ผู้นำด้านอากาศยานอย่าง Bell ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมด้วยแบบจำลองเต็มรูปแบบ Nexus ในงาน CES2019 รวมทั้ง Airbus เองก็ได้เปิดตัวคู่แข่งของ Uber Elevate คนสำคัญอย่าง Voom ออกมา แม้ว่าจะเป็นการใช้เฮลิคอปเตอร์แบบดั้งเดิมก็ตาม

Source : Digital Trends