มาอีกค่ายแล้วค่ะกับ SkyDrive จากญี่ปุ่น โชว์ทดสอบเทคโนโลยีรถยนต์บินได้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ตั้งเป้าขายจริงภายในปี 2023
SkyDrive Inc บริษัทสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น เริ่มทดสอบรถยนต์บินได้ต้นแบบโดยมีคนจริงๆควบคุมอยู่หลังพวงมาลัย ตั้งเป้าสาธิตการใช้งานจริงต่อหน้าสาธารณะชนในช่วงฤดูร้อนนี้
ทีมงานของสตาร์ทอัพรายนี้คืออดีตวิศวกรจากโตโยต้าที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของวิศวกรรมยานยนต์อยู่แล้ว ซึ่งความตั้งใจของพวกเขาก็คือการพัฒนารถยนต์บินได้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เมื่อปี 2017 ทางบริษัทเองก็ได้รับเงินลงทุนจากโตโยต้าเป็นจำนวน 40 ล้านเยนหรือประมาณ 11 ล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์บินได้ให้สำเร็จ
การทดสอบนี้เกิดขึ้นในตัวโรงงานของบริษัท ในศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ตั้งอยู่ในเมืองนาโงยะ โดยมีการป้องกันเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี จริงๆแล้วมีการทดสอบมาหลายครั้งแล้วแต่ส่วนใหญ่จะไม่มีคนขึ้นไปนั่งจะใช้การควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรลซะมากกว่า ส่วนการทดสอบกับคนจริงนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนธัวาคมปีที่แล้วแต่เขาไม่ได้บอกว่าทดสอบมาแล้วกี่ครั้ง บอกเพียงแค่ว่าผลทดสอบเป็นที่น่าพอใจ
ในส่วนของรถต้นแบบที่ทำการเรนเดอร์ออกมานั้นจะเห็นว่าตัวถังรถมีความมันวาวมีน้ำหนักเบาวัสดุคล้ายคาร์บอนไฟเบอร์ ที่นั่งค่อนข้างแคบ มองไปคล้ายๆกับรถโกคาร์ท ติดใบพัดเข้าไป 4 ตัว มากกว่า ตัวรถต้นแบบมีความสูงราวๆ 1.5 เมตร กว้าง 3.6 เมตร ยาว 3.6 เมตร ประกอบด้วย 4 ใบพัดเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน
การใช้งานเป็นรถยนต์บนภาคพื้นดินนั้นจะไม่มีล้อ แต่ละใช้ใบพัดทำให้ลอยตัวอยู่เหนือพื้นถนนราวๆ 90 เซนติเมตร ซึ่งเขาตั้งเป้าความเร็วสูงสุดในการวิ่งบนพื้นอยู่ที่ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วสูงสุดในการบินอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนในวิดีโอพรีเซนท์ที่ทำออกมาจะโชว์ภาพรวมให้เห็นถึงเทคโนโลยีอื่นๆที่อยู่ในรถบินได้คันนี้ เช่น กระจกรถจะใช้เทคโนโลยี AR ซ้อนทับข้อมูลเข้าไปเหมือนเรากำลังเล่นเกมอย่างนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความเร็ว การนำทาง แถมด้วย AI แนะนำได้ว่าถ้าบนภาคพื้นดินรถติดอยู่จะแนะนำว่าให้ใช้โหมดเครื่องบินแทน มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้าให้รู้ว่าคันอื่นใครเป็นคนขับ เป็นต้น
ส่วนการขึ้นลงนั้นไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะอะไร เพราะบินขึ้นในแนวดิ่งเหมือนโดรนทั่วไป ทาง SkyDrive ตั้งเป้ารถยนต์บินได้เพื่อที่จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ารถยนต์บินได้นั้นสามารถนำไปต่อยอดด้านอื่นๆได้อีก เช่น การค้นหาหรือกู้ภัยในเวลาที่ถนนหนทางไม่สามารถใช้งานได้
VIA dailymail