ปกติหน้ากากอนามัยจะใช้ป้องกันไม่ให้เราแพร่หรือรับเชื้อมาจากคนอื่น แต่จะดีแค่ไหนถ้าหน้ากากสามารถตรวจจับโรคที่เราเป็นได้ด้วย ล่าสุดมีการทดสอบหน้ากากอนามัยที่บอกได้ว่าคนใส่มีเชื้อวัณโรคหรือไม่

วัณโรคถือเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปเป็นจำนวนไม่น้อย ในปี 2018 นั้นมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 1.5 ล้านคน วงการแพทย์จึงพยายามค้นคิดวิธีใหม่ๆให้ตรวจพบโรคนี้ได้เร็วและแม่นยำขึ้น

ล่าสุดมีการพัฒนาหน้ากากอนามัยโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักรจาก University of Leicester และ University of Pretoria ที่ช่วยตรวจจับวัณโรคได้ ด้วยการติดตั้งแถบโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ฝังลงไปในหน้ากาก เอาไว้ตรวจจับเชื้อจากลมหายใจหรือการไอ เมื่อทำการสวมใส่เป็นเวลา 30 นาทีแล้วจะมีการนำแถบนี้ส่งไปยังห้องทดลองเพื่อตรวจเชื้อ รู้ผลได้ทันทีในเวลาแค่ครึ่งวัน

มีการนำไปทดสอบที่ NHS TB service ในเมืองเลสเตอร์เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อนำหน้ากากนี้ไปให้คนที่ป่วยเป็นวัณโรคสวมใส่นั้นสามารถระบุตัวผู้ป่วยได้แม่นยำถึง 86% เลยทีเดียว เรียกว่าสูงกว่าเครื่องมือวิเคราะห์ตัวอย่างเสมหะที่เก็บมาจากผู้ป่วย ซึ่งมีความแม่นยำอยู่ที่ 20% ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้วิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนจำนวนมากได้

แน่นอนว่าต้นทุนในการผลิตหน้ากากหนึ่งชิ้นก็ถูกอยู่แล้ว ส่วนแถบที่วัดเชื้อโรคนั้นต้นทุนอยู่ที่ราวๆ 2 ปอนด์หรือ 82 บาทหากผลิตจำนวนมากก็จะถูกลงไปอีก ราคานี้ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับการตรวจหาคนป่วยได้เร็ว รักษาได้ก่อนจะแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ นั่นหมายถึงคนหลายล้านคนที่เสียชีวิตจากโรคนี้ก็จะลดลงด้วย

ทางองค์กรอนามัยโลกเองก็ตั้งเป้าที่ลดจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโลกให้ได้ 90% ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ 95% ให้ได้ภายในปี 2035

VIA Dailymail