ถือเป็นอีกความก้าวหน้าทางการแพทย์ เมื่อเราสามารถสั่งพิมพ์หัวใจเทียมที่มีขนาดเท่าหัวใจจริงจากหมึกพิมพ์ชีวะภาพเพื่อนำมาใช้ฝึกการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตอนผ่าตัดจริง

นี่คือผลงานของ Adam Feinberg นักวิจัยด้านวิศวกรรมชีวเวช (biomedical engineer) จาก Carnegie Mellon ในการสร้างหัวใจเทียมขึ้นมาด้วยเทคนิค Fresh 3D-printing ออกมาให้มีขนาดและรูปทรงที่เหมือนของจริง ด้วยการใช้เข็มฉีดหมึกพิมพ์ชีวะภาพไปยังไฮโดรเจลเพื่อรองรับการขึ้นรูป หลังจากพิมพ์เสร็จตัวไฮโดรเจลจะถูกกำจัดออกไปโดยใช้ความร้อน

หัวใจเทียมที่พัฒนาด้วยวิธีนี้นั้นจะมีขนาดและความยืดหยุ่นเหมือนอวัยวะจริง มีโพรงด้านในและหลอดเลือด สามารถตัด เย็บหรือจัดการได้เหมือนหัวใจจริงๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการให้แพทย์ได้ทดสอบผ่าตัดหัวใจในเคสที่ผ่าตัดได้ยาก ฝึกให้ชำนาญก่อนจะช่วยลดความเสี่ยงในการผ่าตัดจริง

เรียกว่าเทคนิคนี้น่าจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เราเข้าใกล้การพิมพ์อวัยวะเพื่อมาทดแทนของจริง สำหรับคนที่สนใจกระบวนการทำสามารถอ่านงานวิจัยได้ที่วารสาร ACS Biomaterials Science and Engineering

ที่มา CNET