ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในบ้านเรา การล็อคดาวน์คงจะไม่สามารถกระทำได้เหมือนช่วงก่อนหน้าแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น โดยหนึ่งในปัจจัยที่ไม่มีการล็อกดาวน์นอกจากความจำเป็นด้านเศรษฐกิจแล้วนั่นก็คือการที่เราเริ่มมีวัคซีนให้ฉีดกัน
ทั้งนี้จะไม่ขอวิพากษ์ถึงประเด็นการจัดหาวัคซีน แต่วันนี้เราจะนำท่านไปทำความรู้จักกับวัคซีนแต่ละประเภท ข้อดี ข้อเสีย รวมถึงอนาคตของวัคซีนชนิด mRNA ที่กำลังมาแรงเพราะมันให้ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูง และรู้หรือไม่ว่าเรากำลังใกล้จะมีวัคซีนเอดส์ให้ได้ใช้กันแล้ว โดยหนึ่งในวัคซีนเอดส์ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นก็จะเป็นวัคซีนชนิด mRNA นั่นเอง
รู้จักวัคซีนกันก่อน
ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่าวัคซีน เพราะตั้งแต่เกิดเด็กสมัยนี้ก็ต้องได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ซึ่งเจ้าวัคซีนนี้ได้ช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นจากโรคร้ายมาได้มากมาย จนกระทั่งทำให้หลายโรคร้ายที่เคยฆ่าผู้คนนับล้านได้สาบสูญไปจากโลกนี้
แล้ววัคซีนมันมีกี่แบบกัน?
วัคซีนเมื่อก่อนนั้นมีด้วยกันหลายประเภท
- วัคซีนเชื้อตาย ประเภทนี้คือวัคซีนที่ทำการเพาะเลี้ยงเชื้อแล้วฆ่าให้ตายก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซากเชื้อเหล่านี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเรารู้จักเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันไว้สู้กับเชื้อโรคในเวลาที่ต้องเจอกับเชื้อจริง ๆ ในอนาคต
- วัคซีนเชื้อเป็น ประเภทนี้คือวัคซีนที่ทำการเพาะเลี้ยงเชื้อแล้วทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้วนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งก็จะเป็นการฝึกให้ภูมิคุ้มกันรู้จักกับเชื้อโรคและต่อสู้กับเชื้ออ่อนแอเหล่านี้และจะจำวิธีการสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้นในอนาคต
- วัคซีนที่ใช้ส่วนประกอบโปรตีนของไวรัส วัคซีนประเภทนี้จะใช้การสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของไวรัสหรือเปลือกหุ้มไวรัสแต่ไม่มีรหัสพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคบรรจุอยู่ภายใน เมื่อฉีดเข้าร่างกายก็กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเรารู้จักหน้าตาของไวรัสต่าง ๆ และรู้วิธีการรับมือเมื่อเกิดการติดเชื้อจริง
แต่ก็มีเชื้อไวรัสบางชนิดที่ยากต่อการผลิตวัคซีนเพราะมันกลายพันธ์ุเร็วมาก ๆ อย่างเช่น เชื้อไวรัส HIV สาเหตุของโรคเอดส์ที่ปัจจุบันเราต่อสู้กับมันมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนหรือยาที่รักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ขึ้นมาซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ
- Viral vector วัคซีน ใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัสใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็น Vector หรือตัวฝากที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน โดยเมื่อเข้าสู่เซลล์ร่างกายก็จะทำการถอดรหัสเป็น RNA ส่งไปยังไรโบโซมโรงงานผลิตโปรตีนในเซลล์ของเราเพื่อให้ทำการการผลิตโปรตีน Antigen (โมเลกุลของโปรตีนที่เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับร่างกาย) ของไวรัสออกมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- mRNA วัคซีน จะใช้ RNA ในการนำส่งข้อมูลการสร้าง protein บางส่วนของไวรัสไปยังไรโบโซมโรงงานผลิตโปรตีนในเซลล์ของเรา และเมื่อร่างกายเราผลิตโปรตีนนี้ออกมาก็จะทำหน้าที่เป็น Antigen กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเรารู้จักและพร้อมสู้กับเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย
- DNA วัคซีน ใช้ส่วนหนึ่งของ DNA ไวรัสมาผลิตวัคซีนรูปแบบของ Plasmid (กลุ่มเส้นสายของ DNA วงแหวนที่ไม่ได้อยู่ในโครโมโซมของเซลล์ร่างกายเรา) ซึ่งจะนำส่งข้อมูลการสร้างโปรตีน Antigen ในร่างกายและทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเรารู้จักกับ Antigen ของเชื้อไวรัสก่อนต้องลงสู้ศึกจริง
- Antigen-Presenting cells ใช้เซลล์ที่มี Antigen ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
ซึ่งวัคซีนแบบใหม่นี้ช่วงก่อนหน้าโควิดระบาดส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ก็ได้รับการผลักดันให้นำมาสู่การใช้งานจริงเร็วขึ้นด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะวัคซีนแบบใหม่นี้ให้ประสิทธิภาพในการสร้างภูมคุ้มกันสูง ดังนั้นวัคซีนประเภทนี้บางตัวจึงยังมีผลข้างเคียงตามข่าวที่เราได้ยินกัน ทำให้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานของวัคซีนประเภทนี้ยังเป็นคำถามที่รอการพิสูจน์อยู่
วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน
หลายคนคงอยากรู้เรื่องวัคซีนขึ้นมากในช่วงนี้ เพราะใคร ๆ ก็อยากให้สถาการณ์คลี่คลายเสียที งั้นมาสรุปกันหน่อยว่าวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงที่มีออกใช้งานแล้วกับที่กำลังของ Approve จาก FDA ส่วนตัวอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนายังไม่ขอพูดถึง
ปัจจุบันวัคซีนโควิดมีด้วยกัน 4 ประเภท
- Viral vector ได้แก่ AstraZineca (อังกฤษ), Spuknic V (รัสเซีย), Johnson & Johnson (เบลเยียม)
- RNA ได้แก่ Pfizer, Moderna (อเมริกา)
- Whole virus (มีทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย) ได้แก่ Sinovac (จีน), Sinopharm (อินเดีย)
- Protein Subunit (ใช้ส่วนประกอบของไวรัส) ได้แก่ Novavac (อเมริกา), China academy of science (จีน)
ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ผสมกัน โดยผลทดสอบประสิทธิภาพนั้นพบว่าวัคซีนแบบใหม่ให้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด(ยกเว้นของ Johnson & Johnson) แต่ก็แลกกับความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ซึ่งบางเคสที่เราได้ยินข่าวถึงอาการลิ่มเลือดอุดตันซึ่งมีเคสที่เสียชีวิตกันเลยทีเดียวถึงแม้ว่ายังพิสูจน์ความเชื่อมโยงของผลข้างเคียงได้ไม่ชัดเจนก็ตาม
แต่ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้นที่เราควรพิจารณา ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราจะเลือกซื้อเลือกฉีดวัคซีนแต่ละตัว ทั้ง ราคา ความยากง่ายในการผลิตและเก็บรักษา ซึ่งวัคซีนแต่ละประเภทมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน
Viral vector วัคซีน
- มีข้อดีคือผลิตจำนวนมากได้ง่ายเพราะทำจากโรงงานมาเป็น DNA และมีความคงทนกว่าสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา(ตู้เย็นธรรมดา) ราคาจะถูกเพราะทำได้จำนวนมาก
- แต่วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่ผลข้างเคียงระยะยาวจึงยังไม่ทราบรวมถึงมีประเด็นที่ต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่ส่งผ่านนิวเคลียสของเซลล์เราซึ่งไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัวเข้ากับ DNA ของมนุษย์และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นโรคทางพันธุกรรมต่อไปหรือไม่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นผลระยะยาวก็คงต้องติดตามกันต่อไป รวมถึงประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพเท่า RNA วัคซีน (ทั้งของ AstraZineca และ Johnson & Johnson)
RNA วัคซีน
- ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือทำได้ง่ายและเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วเพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง
- ข้อดีอีกข้อคือวัคซีนชนิดนี้สามารถปรับแต่งเพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้เร็ว
- ข้อเสียคือ RNA สลายตัวได้ง่าย ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก ๆ และตัววัคซีนเองมีราคาแพงที่สุดเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น
- และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยเทคนิคแบบเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไปเช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี
Whole virus วัคซีน
- ข้อดีคือวิธีการทำเป็นวิธีที่เรารู้กันมาแต่โบราณ ในเรื่องความปลอดภัยเป็นเชื้อตายสามารถใช้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภูมิคุ้มกันต่ำได้ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน แต่การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาข้างต้น
- ข้อเสียคือการผลิตจำนวนมากจะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรคการจะเพาะเลี้ยงเชื้อต้องทำในห้องชีวนิรภัยระดับสูงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง อย่างเราจะเห็นได้ว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ ไม่สามารถลดราคาลงให้ถูกลงได้ ในทำนองเดียวกันการผลิตจำนวนมากของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายก็จะมีขีดจำกัดเช่นกัน
ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องทำการฉีด 2 เข็มโดยต้องมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกพอสมควรเพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ได้ผลสูงสุด(ตามแต่ชนิดวัคซีน) ยกเว้นของ Johnson & Johnson ที่ฉีดเพียงเข็มเดียว และประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของตนมากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็คือ อิสราเอล เซเชลส์และภูฏาน ซึ่งสองประเทศหลังนี้ทำได้เร็วเพราะมีจำนวนประชากรน้อยด้วยส่วนหนึ่ง
mRNA วัคซีน ศักยภาพที่เปี่ยมล้นและจะมาช่วยให้เรามีวัคซีนเอดส์ใช้ในอนาคตอันใกล้?
ก่อนไปต่อขออธิบายถึงวัคซีน mRNA ซะหน่อย ว่าเขาทำมายังไง และวัคซีนชนิดนี้มันทำให้เรามีภูมิคุ้มกันได้อย่างไร
- นักวิทยาศาสตร์จะทำการศึกษา DNA ของไวรัสโควิด-19 (ที่จริงแล้วรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เป็น single strain แต่เราต้องนำมาทำเป็น DNA เพื่อให้สามารถทำเป็น mRNA ต่อได้) เพื่อหาว่าส่วนไหนที่ควบคุมการสร้าง Spike Protein ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนโปรตีนที่ทำให้ตัวโคโรนาไวรัสนี้มีลักษณะเหมือนมีหนามแหลมรอบตัว และเจ้า Spike Protein นี้ก็ทำหน้าที่เหมือนกุญแจผีในการไขประตูเข้าไปในเซลล์ร่างกายของเราเพื่อยึดครองและเปลี่ยนให้เป็นโรงงานผลิตไวรัส และทำสำเนารหัสพันธุกรรมส่วนดังกล่าว
- เมื่อได้สำเนารหัสพันธุกรรมส่วนที่ต้องการแล้วก็จะแปลงรหัสพันธุกรรมจาก DNA เป็น RNA ซึ่งเจ้า RNA นี้จะทำหน้าที่เป็น messenger RNA ในการนำส่งรหัสพันธุกรรมไปยังเซลล์ในร่างกายเรา
- mRNA จะถูกหุ้มด้วยเปลือกที่ทำมาจาก Lipid Nanoparticle เพื่อป้องกันไม่ให้ mRNA สลายตัวไปก่อนที่ส่งข้อมูลเข้าสู่เซลล์ร่างกายเราได้
- ซึ่งเมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อเปลือก Lipid พร้อม mRNA จะเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อและนำส่ง mRNA เข้าสู่เซลล์ (วัคซีนประเภทนี้จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ)
- และ mRNA ก็จะถูกส่งไปยังไรโบโซมอวัยวะภายในเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตโมเลกุลโปรตีนต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้พิมพ์เขียวสำหรับการผลิตแล้วไรโบโซมก็จะเริ่มการผลิต Spike Protein ซึ่งเป็น Antigen (โมเลกุลของโปรตีนที่เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับร่างกาย) ของไวรัสโควิด-19 ออกมาก่อนถูกส่งออกนอกเซลล์
- Antigen ที่ผลิตขึ้นนี้ก็จะไปกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันและทำให้ร่างกายเรารู้จักและพร้อมที่จะรับมือกับเชื้อโควิด-19
รู้ไหมครับ นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ที่จีน ข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 นั้นก็ถูกส่งไปยังห้องวิจัยของบริษัท BioNTech ที่อเมริกา รวมถึงห้องทดลองของมหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งร่วมวิจัยกับ Moderna และด้วยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถทำการออกแบบวัคซีนได้เสร็จภายใน 2 วัน ทำให้ BioNTech สามารถผลิตวัคซีนพร้อมทดสอบในระยะแรก 11 วันก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ไปถึงอเมริกาเสียอีก
ดังนั้นแล้ว mRNA วัคซีนนี้จึงสามารถออกแบบและผลิตให้เข้ากับไวรัสที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและยังปรับแต่งได้เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ รวมถึงการที่ mRNA ส่งข้อมูลการผลิต Antigen ไปยังไรโบโซมโดยตรงลดความเสี่ยงที่จะไปทำให้พันธุกรรมของมนุษย์เราเกิดการกลายพันธุ์จากการรวมกันกับสายพันธุกรรมของไวรัส
เป็นที่มาว่าการพัฒนาวัคซีนเอดส์ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ขึ้นชื่อว่ากลายพันธุ์ได้เร็วที่สุดตัวหนึ่งที่เราเคยรู้จักอาจต้องเป็น mRNA วัคซีน
โดยผลการทดสอบวัคซีนเอดส์ตัวล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นให้เป็นที่น่าพอใจในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันประเภทพิเศษที่สามารถต่อกรกับไวรัส HIV ให้กับกลุ่มอาสาสมัครมากกว่า 97% เลยทีเดียว ซึ่งลำดับถัดไปทีมพัฒนาวัคซีนเอดส์นี้ก็จะร่วมมือกับ Moderna ในการออกแบบและผลิตวัคซีนโดยใช้เทคนิค mRNA ต่อไป
ทั้งนี้วัคซีนโควิด-19 และวัคซีนเอดส์นี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ mRNA วัคซีน เพราะมันอาจสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นวัคซีนสำหรับรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ปัญหาของ mRNA วัคซีน และแนวทางการจัดการ
แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ mRNA วัคซีนก็คือ การเก็บรักษาและขนส่ง เพราะมันต้องเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิที่เย็นจัด (-20 องศา สำหรับวัคซีนของ Moderna และ -70 องศาสำหรับวัคซีนของ Pfizer) แล้วทำไมต้องเย็นจัดขนาดนั้น?
ที่ต้องเย็นจัดก็เพื่อรักษาสภาพวัคซีนเพราะว่าตัว mRNA นั้นถูกหุ้มไว้ในถุง lipid nanoparticle ซึ่งก็คือถุงไขมันบางเฉียบนั่นเอง ทั้งนี้ที่ต้องเป็น lipid nanoparticle เพราะว่านอกจากจะรักษาสภาพของ mRNA ไว้ได้แล้วมันยังช่วยกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนด้วย
แต่การจะแช่เย็นโมเลกุลไขมันเพื่อให้มันไม่เกาะตัวกันหรือเสียสภาพนั้นต้องใช้ความเย็นจัด ๆ ซึ่งก็ต้องใช้พลังงานสูงมากด้วยในการสร้างห้องเย็นที่มีอุณหภูมิติดลบต่ำขนาด -20 ถึง -80 องศาเซลเซียส
แม้จะมีความพยายามในการเพิ่มอุณหภูมิเก็บรักษาไว้ที่ -20 องศาแต่ก็พบว่าสามารถเก็บรักษาวัคซีนไว้ได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
ดังนั้นเหล่าบริษัทยาต่าง ๆ จึงพยายามพัฒนาเทคนิคในการสร้างถุงหุ้ม mRNA ที่ทนอุณหภูมิสูงขึ้น โดยหนึ่งในแนวคิดพัฒนาได้แก่การเคลือบผิวถุง lipid nanoparticle ด้วยโมเลกุลของน้ำตาล ซึ่งจะช่วยไม่ได้ถุงไขมันเกาะตัวกัน
แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจโดย HDT Bio บริษัทด้าน biotechnology ในอเมริกาที่กำลังพัฒนาโมเลกุลไขมันที่ผสมด้วยธาตุเหล็กที่เรียกว่า lipid inorganic nanoparticles หรือ LIONs เพื่อใช้ในการรักษามะเร็ง แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา พวกเขาจึงได้เบนเข็มการพัฒนา LIONs มาใช้ในการหุ้ม mRNA สำหรับทำวัคซีน
โดยโมเลกุลของ LIONs นี้จะมีสภาพทางไฟฟ้าเป็นขั้วบวกจากอนุภาคของธาตุเหล็ก ซึ่งก็จะเหนี่ยวนำกับโมเลกุลของ mRNA ที่มีสภาพทางไฟฟ้าเป็นขั้วลบ ทำให้โครงสร้างของถุงเก็บ mRNA นี้มีความแข็งแรงและมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยอุณหภูมิเย็นจัดในการรักษาสภาพ
ผลจากการทดลองใช้ LIONs ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 และใช้ในสัตว์ทดลองนั้นก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ และด้วย LIONs จะทำให้วัคซีนรุ่นใหม่ที่ใช้ LIONs นี้สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้นานเป็นเดือนและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานถึง 3 สัปดาห์เลยทีเดียว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ LIONs ในการผลิตวัคซีนโควิตล็อตใหม่ได้ในเร็ววันนี้ เพราะยังไงก็ต้องได้รับการอนุมัติจาก FDA อยู่ดี เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าอนุภาคเหล็กใน LIONs นั้นจะส่งผลข้างเคียงอย่างอื่นหรือไม่
เพราะฉะนั้นแล้ว ณ วันนี้ก็คงทำได้เพียงการบริหารจัดการและดูแลการจัดส่งวัคซีนให้ดีที่สุด โดยประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือวัคซีนยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ ไม่ได้เสียไปแล้วเพราะเครื่องแช่แข็งเสียระหว่างขนส่งหรือเปล่า?
หนึ่งในวิธีที่คิดค้นโดย PATH องค์กรด้านสุขภาพระดับโลกกับการใช้สติกเกอร์ที่จะเปลี่ยนสีถ้าหากได้รับอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งก็จะทำให้รู้ว่าวัคซีนที่ส่งมาถึงมือผู้ใช้งานนั้นเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง ซึ่งจนถึงปัจจุบันสติกเกอร์นี้กว่า 9 พันล้านชิ้นได้ช่วยในการตรวจสอบการจัดส่งวัคซีนไปทั่วโลก
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยในการจัดส่งวัคซีนที่เย็นจัดเหล่านี้ไปยังประเทศโลกที่สามก็คือ the Arktek ถังเก็บความเย็นที่สามารถทำความเย็นให้กับของที่เก็บอยู่ข้างในได้ตั้งแต่ -20 ถึง -80 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับว่าใช้น้ำแข็งแห้งหรือน้ำผสม ethanol ในการให้ความเย็น
the Arktek พัฒนาโดยมูลนิธิ Bill และ Melinda Gates เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับส่งวัคซีน ยา หรืออวัยวะปลูกถ่ายไปยังประเทศโลกที่ 3 ได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งเริ่มผลิตและใช้งานตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งก็ได้ถูกใช้ในการส่งวัคซีนไปยังหลายประเทศในแอฟริกาในปี 2015 ช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรคอีโบล่าได้
โดย the Arktek หนึ่งถังสามารถบรรจุวัคซีนได้กว่า 750 ขวดและเก็บไว้ได้นาน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าลดจำนวนวัคซีนเป็น 450 ขวดก็จะทำให้เก็บได้นานขึ้นเป็น 1 เดือนเลยทีเดียว
แม้ว่าการพัฒนาวัคซีน mRNA ให้ขนส่งได้ที่อุณหภูมิห้องยังคงต้องใช้เวลา แต่หากเมื่อไหร่ที่ทำได้สำเร็จเจ้าวัคซีน mRNA นี้จะมาช่วยให้มนุษย์เรารอดพ้นจากโรคร้ายได้อย่างแน่นอน
***************************************************************************
ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ของ รพ. ศิริราช ข้อมูลโดย ศ. ดร. พญ. รวงผึ้ง สุทเธนทร์
อธิบายไว้ดีมาก ข้อมูล update ถึงกลางเดือนมกราคม
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/1454_1.pdf
***************************************************************************
Reference
https://interestingengineering.com/viable-hiv-vaccine
https://www.thelancet.com/journals/lanmic/article/PIIS2666-5247(21)00042-2/fulltext
https://www.technologyreview.com/2021/03/29/1021383/covid-vaccine-cold-chain-innovation/
https://www.technologyreview.com/2021/02/05/1017366/messenger-rna-vaccines-covid-hiv/
https://interestingengineering.com/biontech-moderna-to-use-covid-vaccine-tech-for-other-treatments
https://www.prachachat.net/general/news-588454