เราคุ้นเคยกับคำว่าสตาร์ทอัพมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแต่แทบจะมีสตาร์ทอัพไทยน้อยรายมากที่สามารถสอดแทรกช่องว่างของตลาด ขึ้นมาอยู่แถวหน้า สู้กับแพลตฟอร์มต่างชาติได้อย่างสูสี ยิ่งในสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 วิธีชีวิตเราถูกเปลี่ยนไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น การเรียนออนไลน์ ทำงานแบบ Work From Home สั่งอาหารผ่านแอป จนไปถึงการช้อปปิ้งออนไลน์ เคยสังเกตมั้ยว่าทุกวันนี้บริการที่เราใช้ประจำนั้นจะเป็นแพลตฟอร์มจากต่างชาติ ทั้งนั้นไม่ว่า จะเป็น Grab, Shopee, Lazada, Zoom แล้วพื้นที่ของสตาร์ทอัพไทยอยู่ตรงไหน
ไม่ใช่ว่าไทยไม่มีความพร้อมนะคะ ไม่ว่า เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ จำนวนประชากรที่เข้าถึงอุปกรณ์ เรียกว่าอยู่แถวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทำไมไทยเพิ่มมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นแค่ตัวเดียวและเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2564 ด้วย
นั่นก็คือ Flash Express ที่มีเปิดมาแค่ 3 ปีแต่ระดมทุนจนมูลค่าบริษัททะลุ 100 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว ล่าสุดมีการรุกตลาด AEC ด้วยการจับมือกับ AIF Group Laos เปิดให้บริการในประเทศลาว เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งไทยและลาว รับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
นี่สะท้อนให้เห็นว่าสตาร์ทอัพไทยก็สามารถก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคได้สบายๆ แล้วอะไรล่ะคือความอุปสรรคของสตาร์ทอัพไทยที่ต้องก้าวผ่านให้ได้
อุปสรรคและปัญหาของสตาร์ทอัพไทย
ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ออกมาเปิดเผยรายงาน ‘รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย” ฉบันที่ 4 ที่จัดทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 เผยให้เห็นความท้าทายและปัญหาของสตาร์ทอัพไทยที่ทำให้สู้กับแพลฟตอร์มต่างชาติได้ยาก
- แรงงานฝีมือดิจิทัลไม่เพียงพอ
คนถือเป็นหัวใจสำคัญของสตาร์ทอัพ แม้สตาร์ทอัพอาจจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยคน 2-3 คน ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ผู้ใช้และสร้างความแตกต่าง ทำให้หลายสตาร์ทอัพละเลยและขาดทักษะในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงสตาร์ตอัพหลายรายมีขนาดเล็ก เงินทุนอาจจะไม่มากพอเพื่อจ้างพนักงานที่มีฝีมือด้านเทคโนโลยีที่มีฐานเงินเดือนสูงๆได้ จึงทำให้ธุรกิจเติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ฝั่งของภาคการศึกษาเองก็ผลิตบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แถมคนเก่งยิ่งมีน้อย ทำให้เกิดการแย่งตัวกันอย่างหนัก
ทาง NIA แนะนำว่า ควรจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม พร้อมสร้างแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์เพื่อเข้าถึงให้แรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยี เข้ามาพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐบาลเองอาจจะต้องออกนโยบายส่งเสริม หรือสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางเพื่อช่วยแบ่งเบาต้นทุนของสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ
- ไอเดียดีแต่ขาดแหล่งเงินทุน
หลายสตาร์ทอัพมีไอเดียเดียแต่ติดปัญหาเรื่องของเงินลงทุน เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากเงินทุนส่วนตัวจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าบริษัทในระยะยาว
สถานการณ์โควิดเองก็ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่มีการลดสัดส่วนการลงทุนลง ทางฝั่งนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจลงทุนเฉพาะบางธุรกิจที่เท่านั้น เน้นสตาร์อัพที่มีการเติบโต ส่งผลให้สตาร์ทอัพในบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับความนิยมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ อาจจะมีเครดิตไม่มากพอที่จะเข้าถึงวงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาต่อยอดการทำธุรกิจได้
ทาง NIA เสนอให้สนับสนุนสตาร์ทอัพให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานคู่มือการระดมทุนเพื่อกำหนดทิศทางทั้งระบบนิเวศ สร้างแพลตฟอร์มรวบรวมและประชาสัมพันธ์ข่าวสารการระดมทุนจากในประเทศและต่างประเทศ
- ขาดประสบการณ์หากลุ่มลูกค้าและขยายธุรกิจ
หลายๆสตาร์ทอัพยังขาดประสบการณ์ในการหาลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้ใช้ทั่วไป มองข้ามกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ จนไปถึงขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาดและการทำธุรกิจในต่างประเทศ ขาดการวางแผนการเงินเพื่อหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ทาง NIA เสนอแนะให้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ระบบการค้นหาในตลาดโลกเพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก
- ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พบว่าภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเป็นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง อีกทั้งควรสนับสนุนด้านเงินทุน รวมถึงการสร้างเกณฑ์คุณสมบัติในการรับทุนที่เอื้อต่อทุกธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น
ทาง NIA เสนอแนะให้เกิดการเชื่อมโยงโครงการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย สร้างฐานความรู้งานวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาเขตพื้นที่นำร่องย่านนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รัฐดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาหลักเกณฑ์หรือระเบียบทางราชการให้มีความคล่องตัว โดยอาศัยการเข้าถึงบริการจากภาครัฐด้วยเทคโนโลยี (Gov Tech) เป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงานแทนที่การติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม ควบคู่ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีพลเมือง (Civic Tech) นำเทคโนโลยีมาเชื่อมความสัมพันธ์กับภาครัฐ ให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลหรือปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้
แนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพ
หากปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ได้ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก แล้วจะทำยังไงได้บ้าง ทาง NIA ได้เผยแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพเพื่อให้ไทยสามารถก้าวไปสู่ประเทศแห่งสตาร์ทอัพได้ โดยวางแผนไว้ 4 แนวทางดังนี้
- Build up awareness – การสร้างความตระหนักรู้ และการรับรู้เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้น ทั้งการสร้างศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนสื่อสาธารณะให้รับรู้และเข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพ
- Ease of Doing Business – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ทอัพ ทั้งเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว การรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อรองรับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
- Strengthen Ecosystem – การส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเริ่มตั้งแต่การปฎิรูประบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในเด็กรุ่นใหม่ การวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ไปจนถึงการสร้างสถาบันสนับสนุนผู้ประกอบการ
- Incentives & Supports – การออกมาตรการสนับสนุนโดยภาครัฐทั้งด้านการเงิน/การคลังแก่สตาร์ทอัพ การวางแนวทางผ่อนปรนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของสตาร์ทอัพ และการวางแนวทางสนับสนุนการจัดเรตติ้งเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 เป็นรายงานฉบับที่ 4 ที่ได้จัดทำต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากประชาคมกว่า 300 ราย ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติ นักลงทุน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การสร้างนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเร็ววัน นอกจากนี้ NIA ยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม การสนับสนุนงานวิจัย การอบรมพัฒนาด้านทักษะหลากหลายด้าน รวมถึงการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สตาร์ทอัพไทยอย่างยั่งยืน”
สำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 ได้ที่เว็ปไซต์ www.startupthailand.org โดยจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป